วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วิปัลลาสกกา

วิปัลลาส หมายถึง ความคลาดเคลื่อน ความผิดเพี้ยน ในที่นี้หมายถึง ความจำหรือความคิดเห็นที่คลาดเคลื่อนไปจากหลักธรรมดา เป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากสภาพที่เป็นจริง
ท่านเปรียบความเห็น ความเข้าใจก็เหมือนกับการเดินทาง เพราะระยะทางที่จะเดินไปนั้น ไม่ว่าไกลหรือใกล้ก็คงมีระยะอยู่เท่าเดิมนั่นเอง ถ้าเข้าใจถูกก็ไปถูกและถึงจุดหมายได้เร็ว ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางมาก แต่หากเข้าใจผิดเห็นผิดก็ไปไม่ถูกหรือหลงทางต้องเดินวนเวียนอยู่ที่เดิม บางครั้งต้องเดินทางอ้อมยืดยาวเกินกว่าระยะทางที่ควรเดินทำให้เสียเวลาเปล่า การเข้าใจถูกหรือผิดจึงให้ผลต่างกัน คือ
๑. เข้าใจถูกย่อมทำให้ประโยชน์สำเร็จ
๒. เข้าใจผิดย่อมทำให้เสียประโยชน์
สัตว์โลกทุกหมู่เหล่าได้ชื่อว่าเป็นนักเดินทาง นั่นคือยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสาร เวียนตายเวียนเกิดอยู่ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ กว่าจะได้สดับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามอย่างจริงจังจนเกิดปัญญา เห็นเหตุและผลของความจริงอย่างถ่องแท้ อาจบรรลุถึงที่สุดแห่งทุกข์คือ พระนิพพานได้
พระพุทธเจ้าทรงรู้เองเห็นเองแล้วจึงทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม เพื่อนำตนให้ออกจากวังวนของกรรม กิเลสวิบาก จึงมีผู้เลื่อมใสและกล่าวสรรเสริญคุณไว้ว่า เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดเผยของที่สิ่งอื่นกำบังไว้ บอกทางให้กับคนหลงทาง หรือส่องไฟในที่มืดให้สว่างแก่คนที่มีดวงตา
ที่กล่าวเช่นนี้ได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงชี้ทางสว่างให้กับชีวิตของสัตว์โลก โดยชี้แจงให้เข้าใจสภาพของชีวิตตั้งแต่การดำเนินชีวิตอยู่ในโลก จนถึงขั้นปรมัตถ์ คือ สลัดให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายอยู่ในภพชาติ ด้วยการแสดงให้เห็นสภาพที่แท้จริงของสังขารทั้งหลายว่า มีสิ่งเสมอกันอยู่ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๑) ความเกิดขึ้นในเบื้องต้น ความแปรปรวนในท่ามกลาง ความดับสลายในที่สุด นี้เป็นอนิจจลักษณะ
๒) ความทนได้ยาก เพราะมีภาวะที่ดำรงคงทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ นี้เป็นทุกขลักษณะ
๓) ความไม่ได้ดังใจหวัง เพราะไม่เป็นตามอำนาจบังคับของใคร นี้เป็นอนัตตลักษณะ
อนิจลักษณะและทุกขลักษณะ ยังพอมีผู้พิจารณาเห็นได้บ้างดังเช่น “อนิจจา น่าสงสารจริง เมื่อวานยังเจอกันอยู่เลยวันนี้ตายเสียแล้ว” หรือว่า “แหม ชีวิตนี้ทำเวรกรรมอะไรไว้ถึงได้ทุกข์ยากอย่างนี้” เป็นต้น ส่วนอนัตตลักษณะนั้นเป็นเรื่องยากที่จะรู้เห็นเอง แม้ในลัทธิอื่นก็สอนได้แต่ ๒ ลักษณะข้างต้นเท่านั้น ดังเช่นเจ้าลัทธิท่านหนึ่งกล่าวถึงเรื่องชีวิตก็เป็นของน้อยอยู่ไม่นานก็ต้องตาย (อนิจจัง) มีแต่ความทุกข์ ความคับแค้นมาก(ทุกขัง) แล้วก็เปรียบเทียบชีวิตกับสิ่งต่างๆ ว่า
๑. ชีวิตเปรียบเหมือนหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า
๒. ชีวิตเปรียบเหมือนต่อมน้ำ
๓. ชีวิตเปรียบเหมือนรอยไม้ขีดลงในน้ำ
๔. ชีวิตเปรียบเหมือนสายน้ำที่ไหลลงจากภูเขา
๕. ชีวิตเปรียบเหมือนก้อนเขฬะ (เสลด)
๖. ชีวิตเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อนาบไฟ
๗. ชีวิตเปรียบเหมือนโคที่เขานำไปฆ่า
ส่วนในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ยกอนัตตลักษณะขึ้นแสดงไว้ในอนัตตลักขณสูตร ซึ่งแสดงเป็นครั้งแรกโปรดพระปัญจวัคคี จนท่านเหล่านั้นบรรลุอมตธรรม คือ นิพพาน สลัดออกเสียได้ซึ่งการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องเกาะเกี่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารอีกต่อไป
ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า การยกอนัตตลักษณะขึ้นแสดงสั่งสอนมีเฉพาะแต่ในพระพุทธศาสนา และพระองค์ประทานโอวาทสอนข้อนี้มากกว่าอย่างอื่นก็เพราะว่า หากความถือตัว ถือตน ถือเรา ถือเขา ยังมีอยู่เพียงใด ความพ้นจากทุกข์ยังมีไม่ได้เพียงนั้น อนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีใครพิจารณาเห็นเป็นเหมือนกับของที่คว่ำอยู่ พระพุทธเจ้าทรงหยิบยกขึ้นแสดงสั่งสอน จึงได้ชื่อว่า เหมือนหงายของที่คว่ำอยู่นั้นขึ้น
ผู้มีปัญญาได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เห็นอนัตตลักษณะแจ้งชัดแล้ว แต่นั้นก็สามารถทำลายอวิชชาความเขลาเสียได้แล้วเห็นสภาวธรรมตามเป็นจริง เช่น เห็นเป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๖ หรืออินทรีย์ ๒๒ สภาวธรรมที่ไม่ปรากฏเพราะอวิชชาได้ชื่อว่า เหมือนของที่มีสิ่งกำบัง พระพุทธเจ้าผู้จำแนกให้สัตว์โลกเข้าใจชัด จึงได้ชื่อว่า เหมือนผู้เปิดเผยของที่มีสิ่งอื่นกำบังไว้
สัตว์โลกผู้ยังไม่ได้ปัญญาเห็นวิเศษในอนัตตลักษณะ โดยความเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งๆ เช่นนี้ ได้ชื่อว่า เป็นผู้หลง เมื่อได้สดับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเข้าใจแจ่มชัดแล้ว ขจัดความหลงเสียได้แล้ว ย่อมมีความรู้ความเห็นชอบ ถูกต้องตามครองธรรมพระพุทธเจ้าผู้สั่งสอนสัตว์โลกให้ดำเนินทางที่ถูกฉะนี้ จึงได้ชื่อว่า ชี้บอกทางให้แก่คนหลง
สัตว์โลกผู้ตกอยู่ในที่มืด คือ ความหลงดังกล่าวแล้ว ย่อมมีความเห็นผิดจากภูมิธรรม สำคัญเห็นทุกข์เป็นสุข พยายามในเหตุซึ่งเป็นทางมาแห่งทุกข์ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจด้วยพระองค์เอง แล้วสั่งสอนเวไนยสัตว์ได้เห็นอริยสัจธรรมนั้น จึงได้ชื่อว่า ส่องแสงไฟในที่มืดให้คนมีจักขุได้เห็นแสงสว่าง
พระพุทธเจ้าแม้จะทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ไว้โดยนัยประการต่างๆ แต่เมื่อกล่าวโดยผลที่ทรงมุ่งหวังก็ได้แก่ มุ่งหมายให้สัตว์โลกได้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงเป็นที่ตั้ง จึงทรงแสดงวิปัลลาส คือ กิริยาที่ถือโดยอาการที่วิปริตผิดไปจากหลักความจริง เมื่อกล่าวจำแนกโดยประเภทใหญ่ๆ มี ๒ ประเภท ดังนี้

วิปัลลาส ๓
วิปัลลาส นี้ท่านจัดตามประเภทแห่งความเข้าใจคลาดเคลื่อนด้วยอำนาจของจิต และเจตสิก มี ๓ อย่าง คือ
๑. สัญญาวิปัลลาส คลาดเคลื่อนด้วยอำนาจสำคัญผิด คือ มีความจำคลาดเคลื่อน มีสติปัญญาบกพร่อง รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ทำให้เกิดความรู้ในลักษณะคลับคล้ายคลับคลา ว่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ปะติดปะต่อ ทำให้จำไม่ได้
๒. จิตตวิปัลลาส คลาดเคลื่อนด้วยอำนาจคิดผิด คือ มีความคิดคลาดเคลื่อน เป็นความคลาดเคลื่อนของจิตที่ไม่สมประกอบทำให้จำได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นหนักเข้าเรียกกันว่า คนสติไม่ดี (คนบ้า)
๓. ทิฏฐิวิปัลลาส คลาดเคลื่อนด้วยอำนาจเห็นผิด คือ มีความเห็นคลาดเคลื่อน เห็นไม่ตรงกับผู้อื่นมักยึดความเห็นที่ตนคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น หรือของผู้ที่มีความเห็นตรงกับความคิดของตนเป็นที่ตั้ง ความคลาดเคลื่อนด้วยอำนาจทิฏฐินี้ เป็นคุณหรือโทษหนักกว่าข้ออื่น เพราะทำให้เลิกนับถือจากลัทธิเดิมไปนับถือลัทธิใหม่ คือ เปลี่ยนจากเห็นถูกเป็นผิด หรือผิดเป็นถูกได้
ท่านแสดงธรรมที่เป็นเครื่องถอนวิปัลลาส ๓ นี้ไว้ว่า ให้พิจารณาอภิณหปัจจเวกณ์ ๓ อย่าง คือ พิจารณาว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ เจ็บ ตายไปได้ เมื่อพิจารณาจนรู้ชัดอย่างนี้ ก็จะหยั่งเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถอนวิปัลลาสทั้ง ๓ นั้นได้
วิปัลลาส ๔
๑. อนิจเจ นิจจัง
๒. ทุกเข สุขัง
๓. อนัตตนิ อัตตา
๔. อสุเภ สุภัง
วิปัลลาส ๔ นี้ท่านจัดตามประเภทแห่งวัตถุเป็นที่ตั้งมี ๔ อย่าง คือ
๑. อนิจเจ นิจจัง ความสำคัญผิดในของไม่เที่ยงว่าเที่ยง
๒. ทุกเข สุขัง ความสำคัญผิดในของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
๓. อนัตตนิ อัตตา ความสำคัญผิดในของที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา
๔. อสุเภ สุภัง ความสำคัญผิดในของที่ไม่งามว่าเป็นของงาม
คำว่า “ของ” ในวิปัลลาส ๔ นี้ หมายถึง สังขาร ๒ คือ
๑. อุปาทินนกสังขาร
๒. อนุปาทินนกสังขาร

สัญญาเป็นเครื่องถอนวิปัลลาส ๔
๑. อนิจจสัญญา ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง เป็นเครื่องถอนวิปัลลาสข้อ ๑
๒. ทุกขสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ เป็นเครื่องถอนวิปัลลาสข้อ ๒
๓. อนัตตสัญญา ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นเครื่องถอนวิปัลลาสข้อ ๓
๔. อสุภสัญญา ความกำหนดหมายว่าไม่งาม เป็นเครื่องถอนวิปัลลาสข้อ ๔

(หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นเอก รวมทุกวิชา.กรุงเทพฯ:เลี่ยงเชียง,๒๕๔๗.)


ธรรมศึกษา

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553