นิพพานในพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา แยกมูลเหตุปัจจัยอันปรุงแต่งสังขารว่า เป็นต้นสาย มีพระนิพพานเป็นปลายสาย รวมถึงปฏิเสธความมีตัวตน แต่ยอมรับความเชื่อมถึงกันระหว่างจุติจิตในภพนี้กับปฏิสนธิจิตในภพหน้า ว่าเป็นไปตามอำนาจของกรรมที่ทำไว้ แต่เชื่อว่าการตกนรกมีที่สุดหากผู้นั้นไม่ได้ทำชั่วอีก และคัดค้านการค่อยๆ บริสุทธิ์เอง แต่จะบริสุทธิ์ได้ด้วยความเพียรและปัญญา ซึ่งไม่อาจจะสำเร็จได้อย่างรวดเร็วนักต้องอาศัยกาลเวลา ดังเช่น การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์
ส่วนนิพพาน การดับแห่งจิตอันบริสุทธิ์นั้น ไม่มีการเกิดอีกต่อไป ดังบาลีในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรว่า "อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว" (นี้เป็นชาติมีในที่สุด บัดนี้ภพใหม่ย่อมไม่มี) นิพพาน ในฐานเป็นธรรมไม่ตาย ได้ในบาลีว่า "อปฺปมาโท อมตํ ปทํ" (ความไม่ประมาทเป็นบทไม่ตาย) และในฐานเป็นธรรมไม่มีการจุติ ได้ในบาลีว่า "เต ยนฺติ อจฺจุตํ ฐานํ ยตฺถ คนฺตฺวา น โสจเร" (มุนีเหล่านั้น ย่อมไปสู่ฐานะไม่จุติ ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก)
นิพพานธาตุ ๒ ประเภท
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ คือ ละกิเลสทั้งมวลได้ด้วยอรหัตตมรรคบรรลุอรหัตตผล แต่ยังดำรงขันธ์ ๕ ไว้ มีชีวิตอยู่ ยังต้องประสบกับสิ่งอันเป็นเป็นโลกธรรมอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นแก่ท่านเท่านั้น ไม่สามารถทำราคะ โทสะ โมหะ ที่ท่านดับแล้วกำเริบขึ้นได้อีก
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือ พระอรหันต์นั้นดำรงชีพอยู่จนถึงวันปรินิพพาน (เสียชีวต) และขันธ์ ๕ ดับสนิทลงแล้ว เป็นนิพพานธาตุ หมดการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องเวียนว่ายในวัฏฏสงสารอีกต่อไป