บาลีแสดงปฏิปทาแห่งนิพพาน

นิพพาน เป็นจุดหมายอันสูงสุดของพระพุทธศาสนาเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ ซึ่งพุทธบริษัทต่างมุ่งหมายอยากบรรลุถึง เพราะเป็นบรมสุขที่ไม่มีความผันแปร พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสอนพุทธบริษัทให้รีบขวนขวายปฏิบัติเพื่อชำระทางไปสู่พระนิพพานนั้น ดังมีพระบาลีที่แสดงปฏิปทาอันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานอีกหลายนัย เช่น

อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ ปมาเท ภยทสฺสิ
อภพฺโพ ปริหานาย นิพพานสฺเสว สนฺติเก
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาทแล้ว หรือเห็นภัยในความประมาทโดยปกติ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อมรอบ ย่อมปฏิบัติใกล้นิพพานทีเดียว
(อัปปมาทวรรค ธรรมบท)

อธิบายว่า ภิกษุจะบรรลุนิพพานได้นั้น ต้องไม่ประมาทหรือเห็นเวรภัยที่เกิดจากความประมาท เพราะเมื่อไม่ประมาทย่อมไม่เสื่อมจากธรรม คือ สมถะหรือวิปัสสนา ซึ่งเป็นเหตุให้บรรลุมรรคผล ชื่อว่าปฏิบัติใกล้ต่อการดับกิเลสนิพพาน และอนุปาทานิพพาน

สตฺถุครุ ธมฺมครุ สงฺเฆ จ ติพฺพคารโว
สมาธิครุ อาตาปี สิกฺขาย ติพฺพคารโว
อปฺปมาครุ ภิกฺขุ ปฏิสนฺถารคารโว
อภพฺโพ ปริหานาย นิพฺพานนสฺเสว สนฺติเก
ภิกษุเคารพในพระศาสดา เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ มีความเพียร เคารพในสมาธิ เคารพในสิกขา เคารพในความไม่ประมาท และเคารพในปฏิสันถาร ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อมรอบ ย่อมปฏิบัติใกล้นิพพานทีเดียว
(อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต)

อธิบายว่า ภิกษุมีความเคารพในพระรัตนตรัย ในการทำจิตให้ตั้งมั่น มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ตั้งใจศึกษาปฏิบัติในไตรสิกขา ไม่มีความประมาท และเคารพในปฏิสันถารธรรม ชื่อว่า มีการปฏิบัติที่มุ่งตรงต่อพระนิพพาน

ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ ส เว นิพฺพานสนฺติเก
ฌานและปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นปฏิบัติใกล้นิพพาน
(ภิกขุวรรค ธรรมบท)

อธิบายว่า ฌาน คือ การเพ่งอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตแน่วแน่ มี ๔ อย่าง ได้แก่ ปฐมฌาน, ทุติยฌาน, ตติยฌาน, จตุตถฌาน ปัญญา ความรอบรู้สิ่งที่ควรรู้ เป็นปัญญาขั้นโลกุตตระ คือ เมื่อมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ย่อมรู้เห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริงจึงชื่อว่า ปฏิบัติใกล้ต่อพระนิพพาน

เต ฌายิโน สาตติกา นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ
ธีรชนเหล่านั้น เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง บากบั่นอยู่เป็นนิตย์ ย่อมสัมผัสนิพพาน อันเกษมจากโยคะ อันไม่มีธรรมอื่นยอดเยี่ยมกว่า
(อัปปมาทวรรค ธรรมบท)

อธิบายว่า ธีรชนผู้มุ่งนิพพาน เข้าฌาน คือ อารัมมณูปนิชฌาน ด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐาน และขณูปนิขฌาน ด้วยการเจริญวิปัสสนา, มีความเพียรอยู่เสมอ มีความบากบั่นอยู่ตลอดเวลาด้วยตั้งใจว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็จะไม่ย่อมทิ้งความเพียร ความบากบั่นตั้งใจ ย่อมถูกต้องคือการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นที่ยอดเยี่ยมกว่ามิได้, การสัมผัสถูกต้องมี ๒ ลักษณะ คือ ด้วยฌานและด้วยวิบาก มรรค ๔ ถูกต้องได้ด้วยฌาน ผล ถูกต้องได้ด้วยวิบากโยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา เป็ธรรมที่ผูกสัตว์ไว้ในสังสารวัฏ แต่พระนิพพานเป็นธรรมที่ยอดเยี่ยม พ้นจากการผูกของโยคะทั้ง ๔ นั้น

สิญฺจ ภิกขุ อิมํ นาวํ สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ
เฉตฺวา ราคญฺจ โทสญฺจ ตโต นิพฺพานเหหิสิ
ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรืออันเธอวิดแล้วจักแล่นเร็ว เธอตัดราคะ โทสะแล้ว แต่นั้นจึงถึงนิพพาน
(ภิกขุวรรค ธรรมบท)

อธิบายว่า คำว่า เรือ หมายถึง อัตภาพร่างกาย คือ ร่างกายนี้เต็มไปด้วยน้ำ คือ มิจฉาวิตก หากเจ้าของร่างกายพยายามอุดช่องรูรั่วทางทวารทั้ง ๖ แล้ววิดเอามิจฉาวิตกออกทิ้งเสีย ร่างกายก็จะเบาสบายไม่จมลงในสังสารวัฏ แล่นถึงฝั่งแห่งพระนิพพานได้เร็ว อนึ่ง เรือคืออัตภาพยังมีราคะ โทสะ เป็นเครื่องผูกอยู่ ถ้าไม่ตัดให้ขาดเรือก็ยากที่จะแล่นไปได้ จึงสอนให้ตัดเครื่องผูกคือราคะ โทสะเสีย เมื่อตัดขาดได้แล้วก็บรรลุพระอรหัต ถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

สติ กายคตา อุปฏฺฐิตา ฉสุ ผสฺสายตเนสุ สํวุโต
สตตํ ภิกฺขุ สมาหิโต ชญฺญา นิพฺพานมตฺตโน
ภิกษุผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติแล้ว สังวรในบ่อเกิดแห่งผัสสะ ๖ แล้ว มีจิตตั้งมั่นติดต่อแล้ว พึงรู้นิพพานแห่งตน
(นันทวรรค อุทาน)

อธิบายว่า ภิกษุผู้หวังนิพพาน ต้องเจริญสติที่ไปในกายกำหนดรู้กายว่า เป็นสิ่งที่รวมกันของธาตุเท่านั้น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา, รู้จักสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ร่านหากับสิ่งที่มากระทบทางตา หู เป็นต้น, มีจิตตั้งมั่นสม่ำเสมอ ปฏิบัติมุ่งตรงต่อโลกุตตรธรรม เมื่อดำเนินตามปฏิปทานี้ย่อมบรรลุถึงนิพพานแน่แท้