วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ขั้นตอนการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม

๑. ต้องท่องจำพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑ ให้ได้ และเขียนให้ถูกต้องอย่างน้อย ๒ สุภาษิต พร้อมทั้งที่มาของสุภาษิตบทนั้นด้วยเพื่อนำไปเป็นสุภาษิตเชื่อม (เวลาสอบใช้สุภาษิตเดียว)
๒. เมื่อท่องจำสุภาษิตได้แล้ว พึงฝึกหัดแต่งสุภาษิตนั้น สัก ๒-๓ ครั้ง ประมาณ ๑ หน้ากระดาษ จนเกิดความชำนาญ เมื่อนำไปเชื่อมในการสอบจริงจะได้ง่ายขึ้น

ขั้นตอนการลงมือเขียน
ขั้นตอนที่ ๑ การเขียนสุภาษิตกระทู้ตั้ง ต้องเขียนไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษสอบให้พอดี โดยเฉพาะคำบาลีนั้นต้องเขียนให้ถูกอักขระ ในส่วนคำแปลนั้น พึงเขียนจัดวางให้ได้กึ่งกลางของคำบาลี อย่าให้ล้นไปข้างหน้า หรือเยื้องไปข้างหลังจะดูไม่งามต้องพยายามกะให้พอดี
ขั้นตอนที่ ๒ การเขียนอารัมภบท คือ ณ บัดนี้ ….ให้ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ ประมาณ ๖ ตัวอักษร
ขั้นตอนที่ ๓ ก่อนอธิบายเนื้อความให้ขึ้นบรรทัดใหม่ย่อหน้ากระดาษ การย่อหน้ากระดาษต้องให้ตรงกับ ณ บัดนี้
ขั้นตอนที่ ๔ การเขียนสุภาษิตเชื่อม ให้เขียนตรงกลางหน้ากระดาษเหมือนสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) แต่ก่อนที่จะยกสุภาษิตที่เราท่องไว้แล้วมาเชื่อม ต้องอ้างที่มาของสุภาษิตเสียก่อนว่า สมดังสุภาษิตที่มาใน ……. ( ที่มาของสุภาษิตบทนั้น ) แล้วจึงวางสุภาษิตไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ
ขั้นตอนที่ ๕ ก่อนจะอธิบายเนื้อความของสุภาษิตเชื่อม ให้ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ เหมือนขั้นตอนที่ ๒
ขั้นตอนที่ ๖ การสรุปความให้ย่อหน้า เขียนคำว่า สรุปความว่า ……. การสรุปนั้นควรสรุปประมาณ ๕ – ๖ บรรทัด จึงจะพอดี เมื่อสรุปเสร็จแล้ว ให้นำสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) มาเขียนปิดท้าย
ขั้นตอนที่ ๗ การเขียนสุภาษิตปิดท้าย ให้เขียนคำว่า สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้นว่า…..แล้วนำสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) มาเขียนไว้ตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษปิดท้าย
ขั้นตอนที่ ๘ บรรทัดสุดท้ายนิยมเติมคำว่า “มีนัยดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ หรือ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” มาปิดท้าย
ส่วนการย่อหน้าและจัดวรรคตอนนอกจากนี้ ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม การเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ต้องฝึกเขียนให้ได้ ๔ – ๕ ครั้งขึ้นไป แต่ละครั้งที่ฝึกเขียน พึงดูแผนการเขียนและตัวอย่างการเรียงความแก้กระทู้ธรรมประกอบด้วยว่าถูกต้องหรือไม่.
ธรรมศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สอบธรรมศึกษาอย่างไร ถึงจะสอบผ่าน