วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รูปแบบการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ธ.ศ.เอก

สุภาษิตตั้ง (เข้ากลางหน้ากระดาษ)

คำแปล (เข้ากลางหน้ากระดาษ)



บทนำ บัดนี้ จักได้อธิบายขยายความตามพุทธศาสนภาษิตที่ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็น

แนวทางในการศึกษาและปฏิบัติแก่พุทธศาสนิกชนสืบต่อไป

อธิบายสุภาษิตตั้ง .........................................................(๑๐ - ๑๕ บรรทัด )...........

........... สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน...... (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม ครั้งที่ ๑ )

คำแปล

อธิบายสุภาษิตเชื่อม.....................................................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

............สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน...... (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม ครั้งที่ ๒ )

คำแปล

อธิบายสุภาษิตเชื่อม.....................................................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

............สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน...... (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม ครั้งที่ ๓ )

คำแปล

อธิบายสุภาษิตเชื่อม.....................................................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

...........................................................................................................

สรุป.......( ๕ - ๘ บรรทัด ).....................................................................................

......................................สมดังสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นว่า

พุทธศาสนสุภาษิตตั้ง

คำแปล

ดังได้อธิบายมาด้วยประการ ฉะนี้

(ธรรมศึกษาชั้นเอก กำหนดให้เขียน ๔ หน้ากระดาษเว้นบรรทัดขึ้นไป)


สีลเมว อิธ อคฺคํ ปญฺญวา ปน อุตตโม


มนุสฺเสสุ จ เทเวสุ สีลปญฺญญาณโต ชยํ


ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลก ส่วนผู้ที่มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด


ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดาย่อมมีเพราะศีลและปัญญาฯ


บัดนี้ จักได้อธิบายความแห่งกระทู้ธรรมภาษิต ที่อัญเชิญมาตั้งเป็นอุเทสคาถาข้างต้นนี้พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นลำดับไป


กระทู้ธรรมคาถานี้ แสดงถึงความชนะเป็นที่ยอมรับเป็นที่ยินดีในหมู่มนุษย์และเทวดาว่า ต้องเป็นความชนะที่ได้มาเพราะศีลและปัญญา ฟังแล้วออกจะเป็นเรื่องที่แปลกหูแปลกใจของผู้ที่ห่างจากพระพุทธศาสนา ไม่เคยสนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพราะความชนะในทางคดีโลก ส่วนใหญ่มุ่งแต่ความชนะผู้อื่นเป็นที่ตั้ง เรื่องการชนะตนเองไม่ค่อยคำนึงถึง เมื่อมุ่งแต่จะเอาชนะผู้อื่น ก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องการต่อสู้ทุกๆด้าน ทั้งด้านกำลัง ด้านชั้นเชิง ด้านเชาว์ไวไหวพริบ เป็นต้น เพื่อให้เหนือกว่า ยิ่งกว่าคู่ต่อสู้ ในการบางครั้งมุ่งหวังเพื่อผลคือ ความชนะแก่ตนเองและแก่หมู่คณะของตนจนเกินไป ถึงกับพริกผันปัญญาความพริบไหวที่ถูกต้องยุติธรรมเป็นทุปปัญญาไป ก็จำต้องทำอย่างนี้ก็มี ทุปปัญญานั้นได้แก่ ปัญญาที่เจือด้วยเล่ห์เหลี่ยม กลโกง เอารัดเอาเปรียบ ไม่สุจริตมีประการต่างๆ ความชนะที่ได้มาด้วยวิธีการเช่นนี้ แม้จะยินยอมกันได้ ก็เป็นแต่เพียงเพื่อยุติเท่านั้น แต่หาหยุดสุดสิ้นยินยอมที่แท้จริงไม่ ยังจะต้องมีการต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด ฝ่ายที่พ่ายแพ้ย่อมไม่พอใจ เป็นทุกข์เป็นโศก มีความเคืองแค้น หมายมั่นจองเวรกันต่อไปนานเท่านาน ฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายก่อเวร ฝ่ายแพ้เป็นฝ่ายจองเวร ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเวรทั้ง ๒ ฝ่าย ขึ้นชื่อว่าผู้มีเวรแล้ว ย่อมจะมีความสุขที่แท้จริงไม่ได้ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นที่ปราบปลื้มอนุโมทนาสาธุการในหมู่มนุษย์และเทวดาโดยทั่วหน้า ดังที่กล่าวถึงตามกระทู้ข้างต้นนี้


ความมุ่งหมายของกระทู้นี้ เป็นความมุ่งหมายในทางคดีธรรม หมายถึงความชนะที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และมุ่งถึงความชนะตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะความชนะเช่นนั้น เป็นความชนะที่ปราศจากเวรภัย ทั้งเป็นที่ยอมรับของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งปวง ความชนะเช่นนั้นย่อมเกิดมีขึ้นได้ก็เพราะศีลและปัญญา ดังเช่นที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานและท่านได้รับรองและยืนยันว่า ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลก เพราะศีล ไม่ว่าจะเป็นศีลประเภทใด มีศีล ๕ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินของชีวิต ทำชีวิตให้เป็นอยู่อย่างปกติ ที่นั้นก็เป็นสุข ศีลนั้นนอกจากเป็นเลิศในการทำผู้ปฏิบัติให้มีความเป็นอยู่อย่างปกติสุขแล้ว ศีลยังเป็นเลิศในด้านปรับปรุงรากฐานของชีวิตให้มั่นคง เป็นที่พึ่ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมน้อยใหญ่ให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป สมตามเทศนานัยเถรภาษิต ที่มาในขุททกนิกาย เถรคาถาว่า


อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณนญฺจ มาตุกํ


ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย


ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย


เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะเหตุนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์.


ศีลจะมีคุณค่า มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึ่ง เป็นมารดา เป็นประมุขของความดีทั้งปวงได้ ก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติคอยพิจารณาสำรวจตรวจตรา ชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ไม่ให้ขาดไม่ให้ด่างพร้อย ศีลที่บริสุทธิ์จึงเป็นเลิศในการเป็นเกราะคุ้มครองเวรภัย ทำความระแวงหวาดกลัวให้สลายไป มีความเป็นอยู่เป็นสุขสดใสในโลกสันนิวาสนี้ สมจริงตามพระคาถาบาลี ที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า


สุสุขํ วต ชีวาม เวริเนสุ อเวริโน


เวริเนสุ มนุสฺเสสุ วิหาราม อเวริโน


ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวรกัน เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ ในหมู่มนุษย์


ผู้มีเวรกัน เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ เราจึงเป็นอยู่อย่างเป็นสุขดีหนอ.


การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เป็นที่มั่นใจในศีลของตนก็ต้องอาศัยปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องชำระศีลให้บริสุทธิ์ ศีลนั้นแม้จะเป็นเลิศ ทำให้ปลอดเวรปลอดภัย มีความสุขกายสุขใจได้ ก็อยู่ในระดับของศีลเท่านั้น เพราะศีลเป็นเพียงเบื้องต้น เป็นเครื่องป้องกัน กำจัดได้เฉพาะกิเลสอย่างหยาบ มีทุจริตทางกาย ทางวาจา ปิดกั้นทุคติภูมิ เปิดทางนำไปสู่ทุคติภูมิเท่านั้นศีลเป็นเครื่องอบรมจิตเบื้องต้น ทำจิตให้มีหลัก หนักแน่นเป็นสมาธิที่จะดำเนินไปสู่ระดับสูงยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้มีศีลสมบูรณ์ มีสมาธิ มีปัญญาพอประมาณ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอริยคุณขั้นสูงสุด คือพระอรหันต์ ปัญญาจึงเป็นคุณขั้นอุดม สามารถกำจัดกิเลสาสวะทั้งอย่างหยาบ อย่างละเอียดให้หมดสิ้นไป ไม่มีส่วนเหลือ เมื่อกล่าวถึงความชนะกันแล้ว ผู้ที่กำจัดกิเลสของตนได้ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส ไม่ถูกกิเลสฉุดคร่าพาไป ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ชนะตนเอง ผู้ที่ชนะตนเองได้ ได้ชื่อว่าเป็นจอมแห่งผู้ชนะ ความข้อนี้ สมกับพระพุทธวจนะคาถาที่มาใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า


โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน


เอกญฺจ ชยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม


บุคคลใด พึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพันในสงคราม บุคคลนั้น


(ยังหา) ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงครามไม่ ส่วนบุคคลใด พึงชนะ


ตนผู้เดียวได้ บุคคลนั้นแล (ชื่อว่า) เป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม.


ความข้อนี้ พึงเห็นได้จากพระปฏิปทาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงชนะศัตรูหมู่มารคนพาลทั้งปวงเป็นอุทาหรณ์ พระองค์ทรงใช้คุณธรรม คือ ศีลและปัญญา เป็นเครื่องปราบ ทำเหล่าพาลให้สงบราบคาบ โดยไม่รู้สึกตัวว่า ตนเป็นผู้ได้รับความเจ็บช้ำระกำใจ ไม่คิดจองเวรจองภัย เพราะความพ่ายแพ้ มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย และเป็นที่ชื่นชมแซ่ซ้องสาธุการกันทั่วหน้า ปราชญ์ผู้มีปัญญาในอดีตจึงได้บันทึก จารึกเป็นพุทธชยมงคลอัฏฐคาถา สรรเสริญพุทธปฏิปทาที่ทรงมีชัยแก่เหล่าหมู่มารพาลร้ายครั้งยิ่งใหญ่รวม ๘ หน พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธา ใช้เป็นข้อสวดร้องท่องบ่น จำทรงสืบๆ กันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้


สรุปความตามที่ได้บรรยายมา จะเห็นจริงได้ว่า ศีลและปัญญาเป็นปฏิปทาที่ล้ำเลิศประเสริฐสูงสุด ใช้ได้ทั้งเป็นเกราะและอาวุธรักษาตน ทั้งเป็นเครื่องต่อสู้กับเหล่าพาลชนประสบผลคือความมีชัย เป็นที่พึ่งพอใจของมนุษย์และเทวดา สมตามกระทู้ธรรมคาถาที่ตั้งไว้ตอนต้น ซึ่งมีอรรถาธิบายตามที่บรรยายมา ด้วยประการฉะนี้ ฯ


ธรรมศึกษา

รูปแบบการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ธ.ศ.โท

สุภาษิตตั้ง (เข้ากลางหน้ากระดาษ)

คำแปล (เข้ากลางหน้ากระดาษ)



บทนำ บัดนี้ จักได้อธิบายขยายความตามพุทธศาสนภาษิตที่ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็น

แนวทางในการศึกษาและปฏิบัติแก่พุทธศาสนิกชนสืบต่อไป

อธิบายสุภาษิตตั้ง .........................................................(๑๐ - ๑๕ บรรทัด )...........

........... สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน...... (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม ครั้งที่ ๑ )

คำแปล

อธิบายสุภาษิตเชื่อม.....................................................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

............สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน...... (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม ครั้งที่ ๒)

คำแปล

อธิบายสุภาษิตเชื่อม.....................................................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

...........................................................................................................

สรุป.......( ๕ - ๘ บรรทัด ).....................................................................................

......................................สมดังสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นว่า

พุทธศาสนสุภาษิตตั้ง

คำแปล

ดังได้อธิบายมาด้วยประการ ฉะนี้

(ธรรมศึกษาชั้นโท กำหนดให้เขียน ๓ หน้ากระดาษเว้นบรรทัดขึ้นไป)

โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน

ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจไม่มั่นคง พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี

ส่วนผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่สิ้นวันเดียว ประเสริฐกว่า.


ณ บัดนี้จักได้บรรยายขยายความกระทู้ธรรมสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการ

ศึกษาและนำไปปฏิบัติสืบต่อไป

คำว่า “ ผู้มีปัญญาทราม ” คือ ผู้โง่เขลา มีใจประกอบด้วยอวิชชา ไม่รู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวะความ

เป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่รู้ในหลักของชีวิตว่าเป็นตามหลักของไตรลักษณ์ คือ หลงเข้าใจว่า ชีวิต และสรรพสิ่งทั้งปวง

เป็นของเที่ยง มีความเป็นอยู่อย่างจีรังยั่งยืน ทำให้ไม่สามารถเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้มีความ

ยึดถือในเรื่องของตัวตน หลงยึดมั่นในชีวิตและสิ่งทั้งปวงว่าเป็นของเรา เมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง

สภาพไปไม่เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ไม่สามารถยอมรับถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้

อีกประการหนึ่ง คนโง่เขลานั้น มีลักษณะประมาทในการทำดี มีแต่ประกอบกรรมที่ยังตนและคนอื่นให้เดือดร้อน

ต่างจากคนที่มีปัญญา ซึ่งเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต มองเห็นการทำความดี มีผลเป็นความสุข หลีกเลี่ยงการทำชั่ว

ปวง ดังนั้นบัณฑิตจึงใช้ชีวิตต่างจากคนที่ไม่มีปัญญาเพราะเล็งเห็นผลที่เกิดขึ้น สมดังพุทธภาษิตที่มาใน สังยุตต

นิกาย สคาถวรรค ว่า

ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ

บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว.

คำว่า " ผล " ในที่นี้คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรืออะไรก็ตามที่ต่อเนื่องมาจากเหตุ ท่านเปรียบเสมือน

กับชาวนา เมื่อหว่านข้าวลงในนา ย่อมได้รับผลคือ ข้าวนั่นเอง หรือชาวสวนที่ปลูกผลไม้ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง ลำใย

ทุเรียน กล้วย ผลที่ได้ก็จะเป็นมะม่วง ลำใย ทุเรียน กล้วย ตามต้นที่ปลูก อุปมานี้ฉันใด การทำกรรมก็ฉันนั้น

เหมือนกัน ใครทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ใครทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว ผลของการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจาก

เหตุแห่งการกระทำที่ตนได้ทำแล้วนั่นเอง ดังนั้นบุคคลผู้รู้ทั้งหลายจึงยินดีในการบำเพ็ญความดี ยินดีที่จะฝึกตน

อย่างคนไม่ประมาท คอยประคับประคองจิตของตนไม่ให้ตกไปในอำนาจของบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย สมดังพุทธ

ภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

อปฺปมาทรตา โหถ สจิตฺตมนุรกฺขถ

ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร

ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท คอยรักษาจิตของตน

จงถอนตนจากหล่ม เหมือนช้างที่ตกหล่มถอนตนขึ้น ฉะนั้น.

ความว่า ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท ในที่นี้ท่านหมายถึง การดำรงชีวิตอยู่อย่างรอบคอบ

มีสติคอยระวังไม่ให้จิตอยู่อย่างปราศจากสติ ไม่ประมาทในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต เป็นต้น นอกจากนี้

พระพุทธองค์ทรงสอนไม่ให้ประกอบความประมาท คือไม่ให้หลงไปในหลุมพรางของอำนาจความยินดีในกาม คือ

ไม่ให้ปล่อยใจไปตามอารมณ์ที่ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพราะถ้าไม่สามารถควบคุมความต้องการทางอารมณ์

ได้ย่อมก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดังนั้นผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงรู้จักเพ่งพินิจเห็น

โทษของกามคุณ สิ่งยั่วยุทั้งหลาย ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น ตั้งจิตอยู่ในกุศล

ธรรม ย่อมได้รับความสุขตามที่ตนเองปรารถนา

สรุปความว่า คนไม่มีปัญญา ย่อมมีชีวิตอยู่อย่างผู้ประมาท มีชีวิตอยู่เพื่อทำความเดือดร้อนฝ่ายเดียว

ยิ่งมีชีวิตอยู่นาน ยิ่งสร้างบาปอกุศลกรรมไว้มาก ซึ่งต่างจากผู้มีปัญญา แม้อยู่เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐกว่าคนไม่มี

ปัญญา เพราะคนมีปัญญา มีชีวิตอยู่อย่างผู้ไม่ประมาท รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร ประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติ เว้นสิ่ง

ที่ควรเว้น เป็นผู้เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง บำเพ็ญคุณงามความดี ย่อมมีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์

สุขตนและคนอื่น สมดังสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน.

ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจไม่มั่นคง พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี

ส่วนผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่า.



ดังพรรณนามาฉะนี้แล ฯ



ธรรมศึกษา

ตัวอย่าง วิชาเรียงความกระทู้ธรรม ธรรมศึกษาตรี

รูปแบบการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ธ.ศ.ตรี

๑. สุภาษิตตั้ง (เข้ากลางหน้ากระดาษ)

๒. คำแปล (เข้ากลางหน้ากระดาษ)



๓. บทนำ บัดนี้ จักได้อธิบายขยายความตามพุทธศาสนภาษิตที่ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็น

แนวทางในการศึกษาและปฏิบัติแก่พุทธศาสนิกชนสืบต่อไป

๔. อธิบายสุภาษิตตั้ง ..................(๑๐ - ๑๕ บรรทัด )...........

๕. สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน......
๖. (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

๗. ( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม )

๘. คำแปล

๙. อธิบายสุภาษิตเชื่อม.........................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

...........................................................................................................

๑๐. สรุป...( ๓- ๕ บรรทัด)................................

.....................สมดังสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นว่า

๑๑. พุทธศาสนสุภาษิตตั้ง

๑๒. คำแปล

๑๓. ดังได้อธิบายมาด้วยประการ ฉะนี้

(ธรรมศึกษาชั้นตรีกำหนดให้เขียน ๒ หน้ากระดาษเว้นบรรทัดขึ้นไป)

สีลํ โลเก อนุตฺตรํ.
ศีล เป็นเยี่ยมในโลก.

ณ บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมพุทธภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นพอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและนำปฏิบัติสืบต่อไป
ดำเนินความตามกระทู้นี้ คำว่า ศีล คือการรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ผู้ที่จะได้ว่าเป็นมนุษย์นั้นผู้นั้นอย่างน้อยต้องมีศีล ๕ มีไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด และไม่ดื่มสุรายาเสพติดต่าง ๆ ชื่อว่าศีลเป็นเยี่ยมในโลก เพราะเป็นเครื่องปกป้องโลกให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ศีลเป็นเครื่องขจัดความเบียดเบียนระหว่างตนกับผู้อื่นให้หมดไป ก่อความรักความเมตตาให้เกิดขึ้นในโลก ศีลเป็นเครื่องชำระกิเลสอย่างหยาบให้หมดไป เป็นขั้นพื้นฐาน เป็นเบื้องต้นแห่งการทำความดี ผู้ประพฤติให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ย่อมประสบแต่ความสุข ศีลเป็นความดี มีผลเป็นความสุข ผู้รักษาศีล ศีลย่อมให้ผลคือ ความสุข ตราบที่เขารักษาศีลอยู่ สมดังศาสนสุภาษิตที่มาในธรรมบท ขุททกนิกาย ว่า

สุขํ ยาว ชรา สีลํ.
ศีล นำสุขมาให้ตราบเท่าชรา.

ศีลเป็นหลักเบื้องต้นแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยมีเจตนาความตั้งใจงดเว้นความชั่วทั้งทางกาย วาจา และตลอดจนไปถึงใจด้วยให้เรียบร้อยดีงาม ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ทุกคนสามารถปฏิบัติรักษาศีลได้ด้วยกันทั้งนั้น ผู้ที่ปรารถนาความสุขไม่พึงละทิ้งการรักษาศีล เพราะศีลเป็นบ่อเกิด และเป็นเหตุนำสุขมาให้ ยกตัวอย่างเช่น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้ไว้ซึ่งศีลที่บริสุทธิ์ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองจึงมีแต่ความสุขเกษมสำราญ เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงไม่ควรมองข้าม ควรหันเข้ามารักษาศีลกันเถิด เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและโลก นำสุขมาให้ตราบเท่าชรา
สรุปความว่า ศีล คือความประพฤติดีรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นคุณธรรมเบื้องต้น ที่จะทำให้คนเป็นมนุษย์ คือผู้ประเสริฐ โดยมีสติสัมปชัญญะคอยกำกับอยู่เสมอ เพื่อให้ดำเนินไปในทางที่ดี ผู้รักษาศีลย่อมปราศจาก ศรัตรูที่คอยเบียดเบียน ไม่มีเวรมีภัยกับบุคคลผู้อื่น และยังนำสุขมาให้แก่ผู้ปฏิบัติตาม อยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข ศีลจึงเป็นความดีเยี่ยมในโลก สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้น ว่า

สีลํ โลเก อนุตฺตรํ.
ศีล เป็นเยี่ยมในโลก.
มีนัยดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ
ธรรมศึกษา

ธรรมศึกษาตรี, ธรรมศึกษาโท, ธรรมศึกษาเอก

การจัดสอบวัดผลธรรมสนามหลวงนั้นจัดให้มีการสอบปีละ 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1
ตรงกับวันขึ้น 9 - 12 ค่ำ เดือน 11 จัดสอบนักธรรมชั้นตรี สำหรับพระภิกษุ สามเณร
ครั้งที่ 2
ตรงกับวันแรม 2 - 5 ค่ำ เดือน 12 จัดสอบนักธรรมชั้นโทและเอก สำหรับพระภิกษุ สามเณร
สำหรับธรรมศึกษานั้นจัดสอบวันเดียวคือวันแรม 5 ค่ำ เดือน 12