วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รูปแบบการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ธ.ศ.เอก

สุภาษิตตั้ง (เข้ากลางหน้ากระดาษ)

คำแปล (เข้ากลางหน้ากระดาษ)



บทนำ บัดนี้ จักได้อธิบายขยายความตามพุทธศาสนภาษิตที่ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็น

แนวทางในการศึกษาและปฏิบัติแก่พุทธศาสนิกชนสืบต่อไป

อธิบายสุภาษิตตั้ง .........................................................(๑๐ - ๑๕ บรรทัด )...........

........... สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน...... (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม ครั้งที่ ๑ )

คำแปล

อธิบายสุภาษิตเชื่อม.....................................................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

............สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน...... (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม ครั้งที่ ๒ )

คำแปล

อธิบายสุภาษิตเชื่อม.....................................................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

............สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน...... (ที่มาของศาสนสุภาษิตเชื่อม ) ว่า

( พุทธศาสนสุภาษิตเชื่อม ครั้งที่ ๓ )

คำแปล

อธิบายสุภาษิตเชื่อม.....................................................( ๗- ๑๐ บรรทัด)...............

...........................................................................................................

สรุป.......( ๕ - ๘ บรรทัด ).....................................................................................

......................................สมดังสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นว่า

พุทธศาสนสุภาษิตตั้ง

คำแปล

ดังได้อธิบายมาด้วยประการ ฉะนี้

(ธรรมศึกษาชั้นเอก กำหนดให้เขียน ๔ หน้ากระดาษเว้นบรรทัดขึ้นไป)


สีลเมว อิธ อคฺคํ ปญฺญวา ปน อุตตโม


มนุสฺเสสุ จ เทเวสุ สีลปญฺญญาณโต ชยํ


ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลก ส่วนผู้ที่มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด


ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดาย่อมมีเพราะศีลและปัญญาฯ


บัดนี้ จักได้อธิบายความแห่งกระทู้ธรรมภาษิต ที่อัญเชิญมาตั้งเป็นอุเทสคาถาข้างต้นนี้พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นลำดับไป


กระทู้ธรรมคาถานี้ แสดงถึงความชนะเป็นที่ยอมรับเป็นที่ยินดีในหมู่มนุษย์และเทวดาว่า ต้องเป็นความชนะที่ได้มาเพราะศีลและปัญญา ฟังแล้วออกจะเป็นเรื่องที่แปลกหูแปลกใจของผู้ที่ห่างจากพระพุทธศาสนา ไม่เคยสนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพราะความชนะในทางคดีโลก ส่วนใหญ่มุ่งแต่ความชนะผู้อื่นเป็นที่ตั้ง เรื่องการชนะตนเองไม่ค่อยคำนึงถึง เมื่อมุ่งแต่จะเอาชนะผู้อื่น ก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องการต่อสู้ทุกๆด้าน ทั้งด้านกำลัง ด้านชั้นเชิง ด้านเชาว์ไวไหวพริบ เป็นต้น เพื่อให้เหนือกว่า ยิ่งกว่าคู่ต่อสู้ ในการบางครั้งมุ่งหวังเพื่อผลคือ ความชนะแก่ตนเองและแก่หมู่คณะของตนจนเกินไป ถึงกับพริกผันปัญญาความพริบไหวที่ถูกต้องยุติธรรมเป็นทุปปัญญาไป ก็จำต้องทำอย่างนี้ก็มี ทุปปัญญานั้นได้แก่ ปัญญาที่เจือด้วยเล่ห์เหลี่ยม กลโกง เอารัดเอาเปรียบ ไม่สุจริตมีประการต่างๆ ความชนะที่ได้มาด้วยวิธีการเช่นนี้ แม้จะยินยอมกันได้ ก็เป็นแต่เพียงเพื่อยุติเท่านั้น แต่หาหยุดสุดสิ้นยินยอมที่แท้จริงไม่ ยังจะต้องมีการต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด ฝ่ายที่พ่ายแพ้ย่อมไม่พอใจ เป็นทุกข์เป็นโศก มีความเคืองแค้น หมายมั่นจองเวรกันต่อไปนานเท่านาน ฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายก่อเวร ฝ่ายแพ้เป็นฝ่ายจองเวร ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเวรทั้ง ๒ ฝ่าย ขึ้นชื่อว่าผู้มีเวรแล้ว ย่อมจะมีความสุขที่แท้จริงไม่ได้ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นที่ปราบปลื้มอนุโมทนาสาธุการในหมู่มนุษย์และเทวดาโดยทั่วหน้า ดังที่กล่าวถึงตามกระทู้ข้างต้นนี้


ความมุ่งหมายของกระทู้นี้ เป็นความมุ่งหมายในทางคดีธรรม หมายถึงความชนะที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และมุ่งถึงความชนะตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะความชนะเช่นนั้น เป็นความชนะที่ปราศจากเวรภัย ทั้งเป็นที่ยอมรับของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งปวง ความชนะเช่นนั้นย่อมเกิดมีขึ้นได้ก็เพราะศีลและปัญญา ดังเช่นที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานและท่านได้รับรองและยืนยันว่า ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลก เพราะศีล ไม่ว่าจะเป็นศีลประเภทใด มีศีล ๕ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินของชีวิต ทำชีวิตให้เป็นอยู่อย่างปกติ ที่นั้นก็เป็นสุข ศีลนั้นนอกจากเป็นเลิศในการทำผู้ปฏิบัติให้มีความเป็นอยู่อย่างปกติสุขแล้ว ศีลยังเป็นเลิศในด้านปรับปรุงรากฐานของชีวิตให้มั่นคง เป็นที่พึ่ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมน้อยใหญ่ให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป สมตามเทศนานัยเถรภาษิต ที่มาในขุททกนิกาย เถรคาถาว่า


อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณนญฺจ มาตุกํ


ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย


ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย


เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะเหตุนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์.


ศีลจะมีคุณค่า มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึ่ง เป็นมารดา เป็นประมุขของความดีทั้งปวงได้ ก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติคอยพิจารณาสำรวจตรวจตรา ชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ไม่ให้ขาดไม่ให้ด่างพร้อย ศีลที่บริสุทธิ์จึงเป็นเลิศในการเป็นเกราะคุ้มครองเวรภัย ทำความระแวงหวาดกลัวให้สลายไป มีความเป็นอยู่เป็นสุขสดใสในโลกสันนิวาสนี้ สมจริงตามพระคาถาบาลี ที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า


สุสุขํ วต ชีวาม เวริเนสุ อเวริโน


เวริเนสุ มนุสฺเสสุ วิหาราม อเวริโน


ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวรกัน เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ ในหมู่มนุษย์


ผู้มีเวรกัน เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ เราจึงเป็นอยู่อย่างเป็นสุขดีหนอ.


การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เป็นที่มั่นใจในศีลของตนก็ต้องอาศัยปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องชำระศีลให้บริสุทธิ์ ศีลนั้นแม้จะเป็นเลิศ ทำให้ปลอดเวรปลอดภัย มีความสุขกายสุขใจได้ ก็อยู่ในระดับของศีลเท่านั้น เพราะศีลเป็นเพียงเบื้องต้น เป็นเครื่องป้องกัน กำจัดได้เฉพาะกิเลสอย่างหยาบ มีทุจริตทางกาย ทางวาจา ปิดกั้นทุคติภูมิ เปิดทางนำไปสู่ทุคติภูมิเท่านั้นศีลเป็นเครื่องอบรมจิตเบื้องต้น ทำจิตให้มีหลัก หนักแน่นเป็นสมาธิที่จะดำเนินไปสู่ระดับสูงยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้มีศีลสมบูรณ์ มีสมาธิ มีปัญญาพอประมาณ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอริยคุณขั้นสูงสุด คือพระอรหันต์ ปัญญาจึงเป็นคุณขั้นอุดม สามารถกำจัดกิเลสาสวะทั้งอย่างหยาบ อย่างละเอียดให้หมดสิ้นไป ไม่มีส่วนเหลือ เมื่อกล่าวถึงความชนะกันแล้ว ผู้ที่กำจัดกิเลสของตนได้ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส ไม่ถูกกิเลสฉุดคร่าพาไป ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ชนะตนเอง ผู้ที่ชนะตนเองได้ ได้ชื่อว่าเป็นจอมแห่งผู้ชนะ ความข้อนี้ สมกับพระพุทธวจนะคาถาที่มาใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า


โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน


เอกญฺจ ชยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม


บุคคลใด พึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพันในสงคราม บุคคลนั้น


(ยังหา) ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงครามไม่ ส่วนบุคคลใด พึงชนะ


ตนผู้เดียวได้ บุคคลนั้นแล (ชื่อว่า) เป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม.


ความข้อนี้ พึงเห็นได้จากพระปฏิปทาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงชนะศัตรูหมู่มารคนพาลทั้งปวงเป็นอุทาหรณ์ พระองค์ทรงใช้คุณธรรม คือ ศีลและปัญญา เป็นเครื่องปราบ ทำเหล่าพาลให้สงบราบคาบ โดยไม่รู้สึกตัวว่า ตนเป็นผู้ได้รับความเจ็บช้ำระกำใจ ไม่คิดจองเวรจองภัย เพราะความพ่ายแพ้ มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย และเป็นที่ชื่นชมแซ่ซ้องสาธุการกันทั่วหน้า ปราชญ์ผู้มีปัญญาในอดีตจึงได้บันทึก จารึกเป็นพุทธชยมงคลอัฏฐคาถา สรรเสริญพุทธปฏิปทาที่ทรงมีชัยแก่เหล่าหมู่มารพาลร้ายครั้งยิ่งใหญ่รวม ๘ หน พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธา ใช้เป็นข้อสวดร้องท่องบ่น จำทรงสืบๆ กันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้


สรุปความตามที่ได้บรรยายมา จะเห็นจริงได้ว่า ศีลและปัญญาเป็นปฏิปทาที่ล้ำเลิศประเสริฐสูงสุด ใช้ได้ทั้งเป็นเกราะและอาวุธรักษาตน ทั้งเป็นเครื่องต่อสู้กับเหล่าพาลชนประสบผลคือความมีชัย เป็นที่พึ่งพอใจของมนุษย์และเทวดา สมตามกระทู้ธรรมคาถาที่ตั้งไว้ตอนต้น ซึ่งมีอรรถาธิบายตามที่บรรยายมา ด้วยประการฉะนี้ ฯ


ธรรมศึกษา

3 ความคิดเห็น:

  1. หนุจะตั้งใจสอบธรรมศึกษาตรี

    ตอบลบ
  2. ขอบคุนมากมายยย

    จะสอบเอกหั้ยได้ลุยๆๆ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ8 ธันวาคม 2554 เวลา 04:12

    รู้ให้แจ้ง
    และจำให้แม่น

    ตอบลบ

สอบธรรมศึกษาอย่างไร ถึงจะสอบผ่าน