วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวอย่างกระทู้ธรรม ธรรมศึกษาชั้นตรี

กระทู้ธรรม ธรรมศึกษาชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันที่.......พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖

พาลา หเว นปฺปสํสนฺติ ทานํ
คนพาลเท่านั้น ย่อมไม่สรรเสริญทาน
บัดนี้ จักได้อธิบายความแห่งกระทู้ธรรม ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา และปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม สำหรับผู้สนใจใคร่ธรรมทุกท่าน
ทาน หมายถึง การบริจาคสิ่งของของตน คือ อาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า ผ้าห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และของใช้ที่จำเป็นแก่ชีวิต ให้แก่ผู้อื่นด้วยวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ
๑. เพื่อช่วยเหลือ เพื่ออุดหนุนบุคคลผู้ไม่มีหรือผู้ขาดแคลนสิ่งเหล่านั้น เช่น ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไฟไหม้ เด็กกำพร้า คนชรา เป็นต้น
๒. เพื่อบูชาคุณความดีของผู้ทรงศีล ทรงธรรม ตัวอย่างเช่นพระสงฆ์ อีกอย่างหนึ่ง ทาน หมายถึง การงดเว้นจากการทำบาป ๕ อย่าง
ดังพระพุทธพจน์ว่า อริยสาวกในศาสนานี้เป็นผู้ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขากจากอทินนาทาน เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้ละการดื่มสุรา และอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ชื่อว่า เขาได้ให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ เมื่อเขาให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร และความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ตัวเขาเองก็เป็นผู้มีส่วนได้รับความไม่มีภัย ความไม่มีเวร และความไม่เบียดเบียนจากผู้อื่นหาประมาณมิได้เช่นเดียวกัน
ทั้ง ๕ นี้ จัดเป็นทานอันยิ่งใหญ่ เป็นทานที่เลิศกว่าทานทั้งหลาย เป็นวงศ์ของอริยชน เป็นของเก่า อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูชนไม่คัดค้าน ไม่ลบล้าง
ทานทั้ง ๒ ประการ คือ การให้วัตถุสิ่งของมีอาหารเป็นต้น และการให้อภัยมีการไม่ฆ่าเป็นต้นดังกล่าวมา ช่วยรักษาชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายให้รอดพ้นจากความตายได้ อุทาหรณ์ที่เห็นง่ายที่สุดคือ เมื่อมนุษย์เกิดมา มารดาบิดาให้น้ำนมดื่ม ให้ข้าวป้อน ดูแลรักษา และไม่มีคนมาฆ่า เด็กทารกนั้นจึงรอดตายและเจริญเติบโตได้ ตรงกันข้าม ถ้ามารดา บิดา หรือผู้อื่นใดไม่ให้น้ำนม ข้าวป้อน ดูแลรักษา หรือมีคนมาฆ่า เด็กทารกนั้นคงไม่รอดตายมาได้ เพราะในเวลานั้น เขายังไม่สามารถจะหาอะไรมารับประทานได้เอง และไม่สามารถจะต่อสู้กับใครได้ อย่าว่าแต่ต่อสู้กับมนุษย์ตัวโต ๆ เลย สู้กับมดและยุงก็ไม่ไหวแล้ว

เพราะฉะนั้น ทาน จะในความหมายว่า ให้วัตถุสิ่งของแก่ผู้อื่นหรือให้อภัย คือ ความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีเบียดเบียนแก่ผู้อื่นก็ตาม ล้วนมีความสำคัญต่อชีวิตทุกชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้มนุษย์และสัตว์รอดพ้นจากความตายมาได้ ดังกล่าวแล้ว
ฉะนั้นพระโพธิสัตว์จึงได้กล่าวไว้ในสัตตกนิบาตชาดกในขุททกนิกายว่า ทเทยฺย ปุริโส ทานํ แปลว่า คนควรให้ทาน
แต่ทานทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ใช่จะให้กันได้ง่าย ๆ ทุกคนโดยเฉพาะคนพาล คือ คนที่ชอบทำชั่ว ชอบพูดชั่ว ชอบคิดชั่ว ชอบทำชั่ว คือชอบประพฤติกายทุจริต คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ชอบพูดชั่ว คือ ชอบพูดเท็จ ชอบพูดส่อเสียด ชอบพูดคำหยาบ ชอบพูดคำเพ้อเจ้อ ชอบคิดชั่ว คือ ชอบโลภอยากได้ของผู้อื่น ชอบคิดร้ายต่อผู้อื่น ชอบเห็นผิดเป็นชอบ อย่างที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พฤติกรรมทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปฏิปักษ์ คือ ตรงกันข้ามกับคุณธรรมที่เรียกว่า ทานทั้ง ๒ ประการนั้นทั้งสิ้น
การเห็นคุณค่าของทาน แล้วบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนหรือเพื่อบูชาความดีของผู้ทรงคุณความดีด้วยตนเองและชักชวนบุคคลอื่นให้ปฏิบัติเช่นนั้นก็ดี การให้ความไม่มีภัยแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติยศชื่อเสียงของผู้อื่นก็ดี ชื่อว่า สรรเสริญทาน พฤติกรรมที่ดีเช่นนี้ จะทำได้ก็แต่คนดีมีศีล มีกัลยาณธรรมเท่านั้น ส่วนคนชั่ว คือ คนพาลนั้น ยากที่จะทำได้ สมกับพระพุทธพจน์ ในธรรมบทขุททกนิกาย ว่า
สาธุ ปาเปน ทุกกรํ
คนชั่ว ทำความดียาก
คนพาลนั้นนอกจากจะไม่ให้ทาน และไม่เห็นคุณค่าของทานแล้ว ยังทำอันตรายต่อทาน เช่นลักขโมยทรัพย์สินของผู้บริจาคทาน ทุจริตคดโกงเอาเงินหรือสิ่งของที่ผู้ใจบุญบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาเป็นของตนเองเสียอีกด้วย ดังได้ฟัง ได้เห็น เป็นข่าวมากมาย
จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า การที่คนพาลไม่ให้ทานไม่เห็นคุณค่าของทานทั้ง ๒ อย่าง คือ วัตถุทาน และอภัยทาน ขัดขวางผู้บริจาคทาน และทำอันตรายต่อทานด้วยการทุจริตคดโกง ดังกล่าวมา เป็นการกระทำที่แสดงออกถึงการไม่สรรเสริญทานตามธรรมภาษิตว่า
พาลา หเว นปฺปสํสนฺติ ทานํ
คนพาลเท่านั้น ย่อมไม่สรรเสริญทาน
ดังพรรณนามาฉะนี้แล ฯ





กระทู้ธรรม ธรรมศึกษาตรี
สอบในสนามหลวง
วันที่……..พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖

สีลํ โลเก อนุตฺตรํ
ศีล เป็นเยี่ยมในโลก
บัดนี้ จักอธิบายความแห่งธรรมภาษิตว่าศีลเป็นเยี่ยมในโลก ตามความรู้ที่ได้ศึกษามา เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรมสืบต่อไป
สีล ท่านผู้รู้อธิบายความหมายไว้หลายนัย ดังนี้
๑. สีลนะ แปลว่า ความปกติ หมายความว่า ควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยดีงาม พ้นจากการเบียดเบียนกันและกัน และหมายความว่าสามารถรองรับความดีชั้นสูงทุกอย่าง เหมือนแผ่นดินรองรับของหนักมีมหาสมุทรและภูเขา เป็นต้นเอาไว้ได้ โดยไม่มีความผิดปกติอะไร
๒. สิระ แปลว่า ศีรษะ หมายความว่า เป็นยอดของความดี เหมือนศีรษะเป็นอวัยวะที่อยู่สูงที่สุดของร่างกาย
๓. สีสะ แปลว่า ยิ่งใหญ่ คือมีความสำคัญ หมายความว่า ถ้าขาดศีลเสียแล้วคุณธรรมหรือความเจริญอย่างอื่นก็เกิดไม่ได้
๔. สีตละ แปลว่า มีความเย็น หมายความว่า ศีลสร้างความเย็นให้แก่จิตใจผู้รักษา และสร้างความร่มเย็นให้แก่สังคม
๕. สิวะ แปลว่า ปลอดภัย หมายความว่า ศีล สร้างความไม่มีภัย ความไม่มีเวร และความไม่เบียดเบียนให้แก่สังคมมนุษย์
ศีลนั้นเมื่อใครรักษาได้จะทำลายวีติกกมกิเลส คือ กิเลสที่ล่วงละเมิดมาทางกาย และวาจา ทางกาย เช่น การฆ่าสัตว์ ทางวาจา เช่น การพูดเท็จ พร้อมกันนั้นก็ทำให้กาย วาจา และใจของผู้นั้นมีความสะอาดพ้นจากการกระทำการพูดและความคิดที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะศีลมีความดีอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำชาวโลกให้รักษาศีล ตามพระพุทธพจน์ในขุททกนิกาย อิติอุตตกะ ว่า
สีลํ รกฺเขยฺย เมธาวี
ผู้มีปัญญาพึงรักษาศีล
อนึ่ง ศีลจะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยธรรม ๒ ประการ คือ หิริความละอายแก่ใจในการทำบาปทุจริต และโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อผลร้ายอันจะเกิดจากการทำบาปทุจริตนั้น
ศีลนั้น ย่อมขาดเพราะเหตุ ๕ ประการ คือ ๑. ลาภ ๒. ยศ ๓. ญาติ ๔. อวัยวะ ๕. ชีวิต หมายความว่า คนที่ทำผิดศีลก็เพราะปรารถนา ๕ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อยากได้ เงินจึงลักขโมย คดโกง หรือฆ่าเจ้าของทรัพย์ เป็นต้น
บุคคลย่อมรักษาศีลไว้ได้เพราะยึดมั่นสัมปุริสานุสติ ว่า บุคคลพึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละทั้งทรัพย์ อวัยวะและชีวิตเพื่อรักษาธรรม
ผู้รักษาศีลได้บริสุทธิ์ไม่ให้ขาด ไม่ให้ด่างพร้อย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า จะได้รับอานิสงส์ คือ ผลดีแก่ตน ๕ ประการ คือ ทำให้เกิดทรัพย์ เกียรติศัพท์ขจรไกล เข้าที่ไหนอาจหาญ สติมั่นไม่ลืมหลง มุ่งตรงทางสวรรค์
จากการพรรณนามาโดยย่อนี้ ทำให้เห็นคุณสมบัติของศีลหลายประการด้วยกัน เช่น
ศีล ควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ให้เรียบร้อยพ้นจากการเบียดเบียนกัน
ศีล เป็นเครื่องรองรับความสุขความเจริญต่าง ๆ
ศีล สร้างความร่มเย็นให้แก่ชาวโลก
ศีล ให้ความไม่มีภัย ไม่มีเวร และความไม่เบียดเบียนกัน
ศีล ทำให้คนมีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ สะอาด
ฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น จึงกล่าวว่า
สีลํ โลเก อนุตฺตรํ
ศีลเป็นเยี่ยมในโลก
ดังได้บรรยายมาด้วยประการฉะนี้ ฯ
ธรรมศึกษา

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ พอดีพระอาจารย์ให้หากระทู้ธรรมที่โรงเรียนผมน่ะครับ
    ช่วยได้มากเลยนะ ครับ ปล ใครไม่ทำโดดตี ครับ อิอิ
    :)

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ14 ธันวาคม 2554 เวลา 02:31

    ตั้งใจ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ15 ธันวาคม 2554 เวลา 06:10

    พรุ่งนี้ 15 ธันวาคม 2554 ดิฉันจะสอบธรรมะศึกษาชั้นตรี แล้วนะ
    ขอให้ทุกคนให้กำลังใจด้วย
    ด้วยเหตุที่ว่าไม่เคยสอบมาก่อนจึงทำให้มีความกังวลใจอยู่มาก
    เครียดมากในการสอบครั้งนี้

    ตอบลบ
  4. เรียนได้ดีได้เยอะเลยคะๆๆๆ(ขอบคุนมากๆๆเลยคะ ะ ะ)

    ตอบลบ

สอบธรรมศึกษาอย่างไร ถึงจะสอบผ่าน