วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิชาธรรม

ทุกกะ คือ หมวด ๒
กัมมัฏฐาน ๒

สมถกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายสงบใจ
วิปัสสนากัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา
องฺ. ทุก. ๒๐/๗๗

อธิบาย : กัมมัฏฐานเนื่องด้วยบริกรรม อันเป็นอุบายทำใจให้สงบ ไม่เกี่ยวกับปัญญา จัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน. กัมมัฏฐานเนื่องด้วยทัศนะทางใจในคติของธรรมดา ปรารภสภาวธรรมและสามัญญลักษณะ จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ภาวนา ๒ ก็เรียก

กาม ๒

กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่
วัตถุกาม พัสดุอันน่าใคร่.
ขุ. มหา. ๒๙/๑

อธิบาย : กิเลสกาม ได้แก่กิเลสให้ใคร่ คือ ราคะ โลภะ คือความอยากได้ อิสสา คือความริษยาหรือความหึง อรติ ความไม่ยินดีด้วย อสันตุฏฐิ ความไม่สันโดษ เป็นต้น วัตถุกาม ได้แก่กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ

บูชา ๒
อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส ( คือสิ่งของ )
ปฏิปัตติบูชา บูชาด้วยปฏิบัติตาม.
องฺ. ทุก. ๒๐/๑๑๗


ปฏิสันถาร ๒
อามิสปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยอามิส (คือสิ่งของ)
ธัมมปฏิสันถาร ปฏิสันถารโดยธรรม
องฺ. ทุก. ๒๐/๑๑๖

อธิบาย : ปฏิสันถาร ได้แก่ การต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น อามิสปฏิสันถารได้แก่ต้อนรับด้วยให้สิ่งของ เช่น ให้น้ำร้อนหมากพลู อาหารเป็นต้น ธัมมปฏิสันถาร แก้กันมาว่า กล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำกันในทางธรรม ข้าพเจ้าเห็นไม่ใช่อาการรับแขก มติของข้าพเจ้า ได้แก่ต้อนรับโดยควรแก่ฐานะของแขกผู้มา ควรลุกรับกราบไหว้ก็ทำ ไม่ควรทำอย่างนั้น ก็ทำความเอื้อเฟื้อด้วยประการอื่น แม้เจ้าถิ่นมีปรารถนาดี แต่ทำไม่ควรแก่ฐานะของแขก การปฏิสันถารนั้นอาจเสีย เช่นแขกเป็นคนชั้นสูง เจ้าถิ่นทำการต้อนรับอย่างคนสามัญ ดูเป็นไม่สำคัญในแขกผู้นั้นเลย อีกผ่ายหนึ่ง แขกเป็นคนสามัญ เจ้าถิ่นต้อนรับแข็งแรง อย่างทำแก่แขกชั้นสูง ดูเป็นตื่นหรือเซอะไป ธัมมปฏิสันถาร หมายเอาการต้อนรับที่ทำพอดีสมแก่ฐานะของแขก

สุข ๒

กายิกสุข สุขทางกาย (สุขเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส)
เจตสิกสุข สุขทางใจ. ( สุขเกิดจากการปฏิบัติธรรม )
องฺ. ทุก. ๒๐/๑๐๑

อธิบาย


ติกะ หมวด ๓

อกุศลวิตก ๓
กามวิตก ความตริในทางกาม
พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท
วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๔๙๖.

อธิบาย : ความตริประกอบด้วยกามราคะ เช่นคิดแส่ไปในการทำกาเมสุมิจฉาจาร และทำทุราจารผิดประเพณี และประกอบด้วยอภิชฌา เช่นคิดแส่ไปในทางหาลาภอันไม่ชอบธรรม จัดเป็นกามวิตก ความตริประกอบด้วยพยาบาท มีโทสะเป็นมูล คือคิดทำลายหรือตัดรอนผู้อื่น จัดเป็นพยาบาทวิตก ความตริประกอบด้วยเจตนาเป็นเหตุทำความลำบากให้แก่ผู้อื่น มีโมหะเป็นมูล เช่นใช้คนหรือสัตว์พาหนะเกินพอดี ไม่ปรานีไม่คิดถึงความลำบากของเขา ของมัน หรือแสวงหาความสนุกเพื่อตนเองในทางลำบากของผู้อื่น จัดเป็นวิหิงสาวิตก

กุศลวิตก ๓
เนกขัมมวิตก ความตริในทางพรากจากกาม
อพยาบาทวิตก ความตริในทางไม่พยาบาท
อวิหิงสาวิตก ความตริในทางไม่เบียดเบียน

อธิบาย : ความตริเป็นไปเพื่อทำใจไม่ให้ลุอำนาจแก่กิเลสกามและไม่ติดอยู่ในวัตถุกาม จัดเป็นเนกขัมมวิตก แต่เนกขัมมศัพท์นี้ท่านหมายเอาออกบวช เพราะความมุ่งหมายของผู้บวช ย่อมเป็นไปในทางนั้น ความตริเป็นไปด้วยอำนาจเมตตาในผู้อื่น ปรารถนาความดีความงามเพื่อเขา จัดเป็น อพยาบาทวิตก ความตริเป็นไปด้วยอำนาจกรุณาในผู้อื่น จะทำอะไร ๆ เนื่องด้วยผู้อื่น เป็นต้นว่าจะใช้คนหรือสัตว์ มีปรานีคิดถึงความลำบากของเขาของมัน ไม่ใช้ตรากตรำ ไม่ทำความลำบากให้แก่เขาแก่มันโดยไม่จำเป็น จัดเป็นอวิหิงสาวิตก

อัคคิ ( ไฟ ) ๓

ราคัคคิ ไฟคือราคะ
โทสัคคิ ไฟคือโทสะ
โมหัคคิ ไฟคือโมหะ.
ขุ. อุ. ๒๕/๓๐๑.
อธิบาย : กิเลส ๓ ประเภทนี้ จัดเป็นอัคคิ เพราะเป็นสภาพเผาลนสันดานให้ร้อน.

อธิปเตยยะ ๓

อัตตาธิปเตยยะ ความมีตนเป็นใหญ่
โลกาธิปเตยยะ ความมีโลกเป็นใหญ่
ธัมมาธิปเตยยะ ความมีธรรมเป็นใหญ่.
องฺ ติก. ๒๐/๑๐๑.
อธิบาย : อัตตาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นคนจะทำบุญ ปรารภภาวะของตนผู้เป็นอิสระ ทำด้วยมุ่งให้สมภาวะของตน ผู้ทำมุ่งผลอันจะได้แก่ตน หรือมุ่งความสะดวกแห่งตนก็เช่นนั้น โลกาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นผู้นั้นทำบุญ ด้วยมุ่งจะให้ผู้อื่นสรรเสริญ หรือไม่ทำ เกรงเขาจะนินทา หรือทำตามความนิยมของเขาทั้งหลายธัมมาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นผู้ทำไม่มุ่งอย่างอื่น เป็นแต่เห็นสมควรเห็นว่าถูกก็ทำหรือทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นอาทิ

ญาณ ๓
สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว.
สํ มหา. ๑๙/๕๓๐

อธิบาย : ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา จัดเป็นสัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกข์เป็นธรรมชาติที่ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ควรละเสีย ทุกขนิโรธ เป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นธรรมชาติที่ควรทำให้เกิด จัดเป็นกิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจ ๔ อย่าง นั้นว่าทำสำเร็จแล้ว จัดเป็นกตญาณ ญาณ ๓ นี้ เป็นไปในสัจจะ ๔ อย่างละ ๓ จึงเป็น ๑๒ เรียกว่าอริยสัจมีอาการ ๑๒

ตัณหา ๓

กามตัณหา ตัณหาในกาม
ภวตัณหา ตัณหาในภพ
วิภวตัณหา ตัณหาในปราศจากภพ.
องฺ ฉกฺก. ๒๒/๔๙๔.

อธิบาย : ความอยากได้อยากพ้นอย่างแรง ที่เรียกว่าทะยาน ว่าดิ้นรน จัดเป็นตัณหา ความอยากได้วัตถุกามอันยังไม่ได้ และความหมกมุ่นอยู่ในวัตถุกามอันได้แล้ว จัดเป็นกามตัณหา ความอยากเป็นอยู่ในภพที่เกิดด้วยอำนาจความอาลัย และความอยากเกิดในภพที่ปรารถนาต่อไป จัดเป็นภวตัณหา ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย ความอยากไม่เป็นอยู่ในภพที่เกิด คือความอยากตายเสีย ด้วยอำนาจความเบื่อหน่ายและความอยากดับสูญไม่เกิดในภพนั้น ๆ อีก จัดเป็นวิภวตัณหา ความไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย

ปาฏิหาริยะ ๓
อิทธิปาฏิหาริยะ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
อาเทสนาปาฏิหาริยะ ดักใจเป็นอัศจรรย์
อนุสาสนีปาฏิหาริยะ คำสอนเป็นอัศจรรย์.
ที. สี. ๒/๒๗๓.

อธิบาย : การแสดงฤทธิ์ได้พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์ เช่นนิรมิตตัวได้ต่าง ๆ ล่อง หนได้ ดำดินได้ เดินน้ำได้ เหาะได้ ท่านจัดเป็นปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง แต่หมายเอาการแสดงฤทธิ์โต้ง ๆ อย่างนี้ หรือหมายเอาการแสดงฤทธิ์เป็นธรรมาธิษฐาน เปรียบด้วยบุคลาธิษฐาน ขอฝากปราชญ์ไว้เพื่อสันนิษฐาน. การดักใจทายใจคนได้ ท่านจัดเป็นปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง. คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมไปตาม ท่านจัดเป็นปาฎิหาริยะอย่างหนึ่ง. ปาฏิหาริยะ ๓ นี้ ท่านว่ามีในสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริยะว่า เป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่า ๒ อย่างข้างต้น

ปิฎก ๓
พระวินัยปิฎก หมวดพระวินัย
พระสุตตันปิฎก หมวดพระสุตตันตะ ( หรือพระสูตร )
พระอภิธรรมปิฎก หมวดพระอภิธรรม.
วิ. ปริวาร. ๘/๑๒๔.

อธิบาย : ศัพท์ว่าปิฎก เป็นชื่อแห่งกระจาดหรือตระกร้า เอามาใช้ในที่นี้ ด้วยหมายเอาความว่าเป็นหมวดที่รวบรวม ดุจกระจาดเป็นที่รวมสิ่งของต่าง ๆ มีผักต่าง ๆ ที่ซื้อมาจากตลาดเป็นต้น. ปาพจน์ในที่นี้ท่านแบ่งเป็น ๓ พระวินัยคงที่ พระธรรมแบ่งออกเป็น ๒ หมวด ที่แสดงโดยบุคลาธิษฐาน หรือเจือด้วยบุคลาธิษฐาน จัดเป็นพระสุตตันตะ ๑ หมวดที่แสดงโดยธรรมาธิษฐานล้วน จัดเป็นพระอภิธรรม ๑ ทั้ง ๓ นี้ เป็นหมวดหนึ่ง ๆ ที่รวบรวมปกรณ์มีประเภทเดียวกัน จึงจัดเป็นปิฎกหนึ่ง ๆ

พุทธจริยา ๓

โลกัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก
ญาตัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระญาติ
หรือโดยฐานเป็นพระญาติ
พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติประโยชน์ โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า.
มโน. ปุ. ปฐม. ๑๐๔.

อธิบาย : โลกัตถจริยานั้น ได้แก่ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่มหาชนที่นับว่าสัตว์โลกทั่วไป เช่นทรงแผ่พระญาณเล็งดูสัตว์โลกทุกเช้าค่ำ ผู้ใดปรากฏในข่ายพระญาณ เสด็จไปโปรดผู้นั้น กล่าวสั้นทรงสงเคราะห์คนทั้งหลายโดยฐานเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นับเข้าในข้อนี้
ญาตัตถจริยา ได้แก่ทรงสงเคราะห์พระญาติโดยฐานเป็นพระญาติ เช่นทรงพระอนุญาตให้พวกศากยะผู้เป็นพระญาติและเป็นเดียรถีย์ จะเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนก่อน เหมือนพวกเดียรถีย์อื่น นี้เป็นญาตัตถจริยาโดยเฉพาะ เมื่อเพ่งถึงพระพุทธจริยาอันเป็นไปเพื่อสงเคราะห์พระญาติ การเสด็จไปเทศนาโปรดพระญาติ ณ นครกบิลพัสดุ์ก็ดี การเสด็จไปห้ามพระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะผู้วิวาทกันด้วยแย่งน้ำเข้านาก็ดี จัดเข้าในข้อนี้ก็ได้
พุทธัตถจริยานั้น ได้แก่พระพุทธกิจที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก้มหาชนโดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า เช่นทรงบัญญัติสิกขาบท อันเป็นอาทิพรหมจรรย์บ้าง อันเป็นอภิสมาจารบ้าง เพื่อนิคคหะ พวกภิกษุหน้าด้านไม่ละอาย ซึ่งเรียกว่าทุมมังกุผู้เก้อยาก คือผู้ไม่ค่อยรู้จักอายบ้าง เรียกว่าอลัชชี ผู้ไม่มียางอายบ้าง และเพื่อวางระเบียบนำความประพฤติแห่งพวกภิกษุผู้รักดีรักงาม ซึ่งเรียกว่าเปสละบ้าง ผู้มีอายเรียกว่าลัชชีบ้าง และทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนา ให้บริษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิตรู้ทั่วถึงธรรม ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบมา กล่าวสั้น ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า นับเข้าในข้อนี้

วัฏฏะ ( วน ) ๓

กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
กัมมวัฏฏะ วนคือกรรม
วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก.
อภิ. สงฺ. ๔๖.

อธิบาย : สภาพ ๓ นี้ ได้ชื่อว่า วน เพราะหมุนเวียนกันไป คือกิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ จนกว่าพระอรหัตตมรรคจะตัดให้ขาดลง ทั้ง ๓ นี้เรียกว่า ไตรวัฏฏะ

สิกขา ๓

อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลยิ่ง
อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตยิ่ง
อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญายิ่ง.
องฺ. ติก. ๒๐/๒๙๔.
อธิบาย : ปฏิปทาที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา คือฝึกหัดไตรทวารไปตามชื่อว่าสิกขา.ในเบื้องต้น ควรหัดปฏิบัติรักษามารยาทกายวาจาให้เรียบร้อยปราศจากโทษสมควรแก่หมู่ก่อน นี้จัดเป็นสีลสิกขา. ในลำดับนั้น ควรหัดรักษาจิตให้อยู่ในอำนาจ อาจทำให้แน่แน่วควรแก่การงานในคราวต้องการ นี้จัดเป็นจิตตสิกขา ในที่สุด ควรหัดใช้ปัญญา ให้รอบรู้สภาวธรรม อันเป็นไปด้วยความเป็นเหตุและผลแห่งกันและกัน จัดเป็นปัญญาสิกขา. เพ่งธรรมอันอุกฤษฏ์ เรียกว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

จตุกกะ หมวด ๔

อบาย ๔

นิรยะ นรก
ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน
ปิตติวิสัย ภูมิแห่งเปรต
อสุรกาย พวกอสุระ
ขุ. อิติ. ๒๕/๓๐๑.

อธิบาย : ภูมิกำเนิด หรือพวกอันหาความเจริญมิได้ จัดเป็นอบายนิรยะ ท่านว่าเป็นภูมิที่ลงโทษคนผู้ทำบาปตายแล้วไปเกิดขึ้น ณ ที่นั้น มีนายนิรยบาลเป็นผู้ทำกรรมกรต่าง ๆ ให้ได้ความเดือดร้อน แสดงโดยบุคลาธิษฐานด้วยถูกไฟลวกและถูกประหารดุจความเข้าใจของพวกพราหมณ์ครั้งเวทิกสมัย คือยุคถือลัทธิตามพระเวทว่า คนบาปตายไปแล้วถูกพระยมชำระแล้วลงโทษให้ตกนรก และต้องเสวยกรรมกรณ์ต่าง ๆ แต่ในปูนหลังกล่าวเพียงนรกและคนทำบาปไปเกิดเองในภูมินั้น การถูกเพลิงลวกหรือถูกประหารก็เป็นอยู่ในภูมินั้นเอง ไม่กล่าวถึงนายนิรยบาล เป็นกลเม็ดอยู่ กำเนิดดิรัจฉานที่ไม่มีภูมิเป็นที่ต่างหาก ต้องอาศัยมนุษยโลก ปรากฏแล้ว นอกจากนี้ยังมีนาคและครุฑมีพิภพเป็นที่อยู่ มีพระราชาในพวกกันเอง เป็นสัตว์ผู้บริบูรณ์ แม้อย่างนั้น ท่านก็จัดเป็นอบายเพราะไม่เป็นภัพพบุคคลเหมือนมนุษย์ ศัพท์ว่า เปรต แปลว่า ผู้ละไปแล้ว หมายเอาผีผู้เคยเป็นมนุษย์มาก่อนยังไม่ได้ถือกำเนิดอื่น ได้ในศัพท์สัมภเวสี ผู้แสวงหาที่เกิดในเมตตสูตร ภายหลังหมายเอาเฉพาะจำพวกทำบาปมีโทษไม่ถึงตกนรก แต่มีรูปร่างทรวดทรงไม่สมประกอบ ตกยาก ได้ความอดอยากเป็นล้นเหลือ เดือดร้อนไปในทางเป็นอยู่ของตนเอง พวกเปรตนี้ ดูเหมือนอาศัยมนุษยโลกก็มี พึงเห็นอย่างพวกเปรตพระญาติเก่าของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งกล่าวถึงในติโรกุฑฑสูตร และในอรรถกถาแห่งสูตรนั้น ดูเหมือนมีภูมิสำหรับเปรตเหล่านั้นก็มี พึงเห็นอย่างพวกเปรตซึ่งกล่าวถึงในชาณุสโสณีสูตร นอกจากนี้ ยังมีเปรตอีกจำพวหนึ่ง อยู่ปลีกตามลำพังในมนุษยโลก ได้เสวยสุขเสวยทุกข์ปนกัน มีวิมานอยู่ มีสมบัติ ได้เสวยสุขในวิมานตลอดกลางวัน ครั้นค่ำลง ต้องออกจากวิมานไปรับกรรมกรเหมือนสัตว์นรกตลอดกลางคืน พอสว่างก็กลับวิมานได้อีก
อสุรกาย ในบาลีไม่กล่าวถึงเลย ในอรรถกถาก็ได้พบเพียงสักว่าชื่อ ในปทานุกรมสํสกฤต แก้อสุรศัพท์ว่าผู้เป็นอยู่ อธิบายว่า ได้แก่ผีเป็นอทิสสมานกาย ประเภทที่ชั่ว ตรงกับผีไม่มีชื่อผู้เที่ยวหลอกมนุษย์ให้ตกใจกลัว ผีแปลกจากเปรตเพราะเที่ยวหลอก เปรตไม่หลอก เป็นแต่คนไปพบเข้าเอง หรือเมื่อจะร้องทุกข์แก่คน ก็แสดงตัวให้เห็นเป็นอทิสสมานกายหรือไม่ ไม่ชัดนัก แต่กล่าวถึงทั้ง ๒ อย่าง อาหารของสัตว์นรก ท่านกล่าวว่ากรรม อาหารของสัตว์ดิรัจฉาน เป็นตามประเภทของมัน ที่เป็นส่วนใหญ่ ของเกิดในสรีระแห่งสัตว์ด้วยกันเป็นต้นว่า เนื้อและเลือดก็มี ของนับเข้าในภูตคาม เป็นต้นว่า หญ้าและใบไม้ก็มี อาหารของเปรต ท่านกล่าวว่ากรรมด้วย ผลทานอันญาติมิตรผู้ยังเป็นอยู่ในมนุษยโลกบริจาคแล้วอุทิศไปถึงด้วย อาหารของอสุรกายไม่ได้ระบุไว้ชัด เทียบอาหารของยักษ์เลว ๆ ของเกิดในสรีระแห่งสัตว์ด้วยกันไม่เลือกว่าดีหรือเสีย สกปรกหรือไม่ ข้าพเจ้าจักเปรียบสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เพื่อเป็นทางสันนิษฐาน สัตว์นรก เช่นคนโทษถูกรับอาญาแผ่นดิน ต้องเสวยกรรมกรณ์อยู่ในพันธนาคาร แต่รัฐบาลให้อาหารกินไม่อดอยากมากนัก เปรต เช่น คนตกทุกข์ได้ยากหากินในทางเที่ยวขอทาน อสุรกาย เช่น คนอดอยากอย่างนั้นแล้ว เที่ยวลอบทำโจรกรรมในค่ำคืน ตลอดถึงการหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น.

อปัสเสนธรรม ๔

พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๓๖.

อธิบาย : ข้อต้น เสพของอันสบาย ต่างโดยเป็นจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช บุคคลและธรรมเป็นต้น ที่เสพเข้ากุศลเกิดขึ้นและเจริญขึ้น อกุศลไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไป ข้อที่ ๒ อดกลั้นอารมณ์อันไม่เป็นที่เจริญใจ ต่างโดยหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ้อยคำเสียดแทง และทุกขเวทนาอันแรงกล้า ข้อที่ ๓ เว้นของไม่สบาย ต่างโดยประเภทอย่างนั้น ที่เสพเข้า อกุศลเกิดขึ้นและเจริญขึ้น กุศลไม่เกิด ที่เกิดแล้วเสื่อมสิ้นไป ข้อที่ ๔ บรรเทาอกุศลวิตกอันสัมปยุตด้วยกาม ด้วยพยาบาท ด้วยวิหิงสา

อัปปมัญญา ๔

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ที. สี. ๙/๓๑๐

อัปปมัญญา แปลว่า ภาวนามีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ เพราะแผ่ไปโดยไม่เจาะจง ไม่จำกัด ว่าเป็นมิตรหรือศัตรูเป็นต้น
เมตตา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความสนิทสนม คือ รักใคร่ เว้นจากราคะ โดยอรรถ ได้แก่ปรารถนาความสุขความเจริญเพื่อผู้อื่น. กรุณา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นได้ทุกข์ร้อน โดยอรรถ ได้แก่ความปรารถนาเพื่อจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา. มุทิตา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความชื่นบาน โดยอรรถ ได้แก่ความพลอยยินดีด้วย ในเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี. อุเบกขาโดยพยัญชนะ ได้แก่ความวางเฉย โดยอรรถ ได้แก่ความวางตนเป็นกลาง ในเมื่อจะแผ่เมตตากรุณาไปไม่บังควร เช่นเอาใจช่วยโจรเป็นตัวอย่าง หรือในเมื่อจะพลอยยินดีด้วยสมบัติของอีกฝ่ายหนึ่ง จำจะยินดีด้วยวิบัติของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ๒ ฝ่ายเป็นความกัน จะพลอยยินดีด้วยฝ่ายชำนะก็จำจะยินดีด้วยความแพ้ของอีกฝ่ายหนึ่ง. ธรรม ๔ อย่างนี้ ที่แผ่โดยเจาะตัวก็ดี โดยไม่เจาะตัวแต่ยังไม่จำกัดมุ่งเอาหมู่นี้หมู่นั้นก็ดี จัดเป็น พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม โดยอธิบายว่าพรหมโดยอุบัติก็ดี พรหมโดยสมมติ คือ ผู้ใหญ่ก็ดี ย่อมอยู่ด้วยธรรมเหล่านี้. ที่แผ่โดยไม่เจาะตัวไม่มีจำกัด จัดเป็นอัปปมัญญา แปลว่า ภาวนามีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ เป็นปฏิปทาของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

โอฆะ ๔

กาโมฆะ โอฆะคือกาม
ภโวฆะ โอฆะคือภพ
ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ
อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา.
สํ. มหา. ๑๙/๘๘.
กาม ภพ มิจฉาทิฏฐิ และอวิชชา ชื่อว่า โอฆะ เพราะเป็นเหมือนห้วงน้ำที่ท่วมใจสัตว์ให้จมลงในวัฏฏทุกข์
อธิบาย : กาม ภพ อวิชชา พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วในอาสวะ ๓ ทิฏฐิ หมายเอามิจฉาทิฏฐิ สภาพ ๔ นี้ ได้ชื่อว่าโอฆะ เพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์ ได้ชื่อว่าโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ ได้ชื่อว่าอาสวะเพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน

กิจในอริยสัจ ๔

ปริญญา กำหนดรู้ทุกขสัจ
ปหานะ ละสมุทัยสัจ
สัจฉิกรณะ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ
ภาวนา ทำมัคคสัจให้เกิด.
สํ. มหา. ๑๙/๕๓๙.
อธิบาย : อริยมรรคเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจ ๔ นี้ในขณะเดียวกัน

บริษัท ๔
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
องฺ จตุกฺก. ๒๑/๑๗๘

บุคคล ๔
อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมพอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง
อง จตุก ก. ๒๑/๑๘๓

อธิบาย : บุคคลที่ ๑ เป็นผู้มีปฏิภาณเป็นอย่างดี ท่านผู้เทศนายกเพียงหัวข้อขึ้นแสดง ก็เข้าใจแล้ว ตัวอย่างเช่น พระอัสสชิแสดงแก่พระสารีบุตรครั้งยังเป็นปริพาชกว่า ความเกิดและดับแห่งธรรมทั้งหลายเพราะเหตุ พระสารีบุตรเข้าใจดีว่า หัวใจพระพุทธศาสนาถือว่า สิ่งนั้น ๆ สารพัดทุกอย่างเป็นเหตุและผลแห่งกันและกัน เกิดขึ้นเพราะเหตุ ดับก็เพราะสิ้นเหตุ บุคคลที่ ๒ มีปฏิภาณไม่ถึงอย่างนั้น ต่อได้ฟังอธิบายความจึงเข้าใจได้ ตัวอย่างเช่น พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังพระศาสดาตรัสว่า ปัญจขันธ์ เป็น อนัตตา แล้วทรงอธิบายว่าถ้าปัญจขันธ์เป็นอัตตาแล้วไซร้ ปัญจขันธ์นั้นก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อความลำบาก และจะพึงปรารถนาได้ตามใจว่า ขอจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ท่านเข้าใจแล้ว บุคคลที่ ๓ ได้แก่ผู้พอจะฝึกสอนอบรมได้ต่อไป อย่างคนสามัญ บุคคลที่ ๔ ได้แก่บุคคลผู้สักว่าฟัง ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเพราะการฟัง

มรรค ๔

โสดาปัตติมรรค
สกทาคามิมรรค
อนาคามิมรรค
อรหัตตมรรค
วิ. ญาณทสสน. ตติย. ๓๑๙

อธิบาย : ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้เด็ดขาด เรียกว่ามรรค มรรคนั้นจำแนกเป็น ๔ ด้วยอำนาจกำจัดสังโยชน์แต่เพียงเอกเทศบ้าง สิ้นเชิงบ้าง
๑. โสดาปัตติมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือสักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
๒. สกทาคามิมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนโสดาปัตติมรรค
กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาลง
๓. อนาคามิมรรค เป็นเหตุละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ทั้ง ๕.
๔. อรหัตตมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐
ผล ๔

โสดาปัตติผล
สกทาคามิผล
อนาคามิผล
อรหัตตผล
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๔๐

อธิบาย : ธรรมารมณ์อันเกิดสืบเนื่องมาแต่มรรค เสวยกำไรที่มรรคได้ทำไว้นั้น เรียกว่าผล ผลนั้นก็มีชื่อเป็น ๔ ตามมรรค จักแสดงข้ออุปมาเปรียบมรรคกับผลพอเล็งเห็น. สังโยชน์เหมือนโรคในกาย มรรคเหมือนการรักษาโรคให้หาย ผลเหมือนความสุขสบายอันเกิดแต่ความสิ้นโรค. อีกอุปมาหนึ่ง สังโยชน์เหมือนโจรในป่า มรรคเหมือนกิริยาปราบโจร ผลเหมือนความสงบราบคาบเกิดมีเพราะหมดโจร


พระอริยบุคคล ๔

พระโสดาบัน
พระสกทาคามี
พระอนาคามี
พระอรหันต์
ที. สี. ๙/๑๙๙.


ปัญจกะ คือ หมวด ๕

อนุปุพพีกถา ๕

ทานกถา กล่าวถึงทาน
สีลกถา กล่าวถึงศีล
สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์
กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม
เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์แห่งความออกจากกาม
มหาวคค. ปฐม. ๔/๓๐.

อธิบาย : เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้น ๆ เรียกอนุปุพพีกถา มีนิยมเป็นพิเศษ ๕ อย่างนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงในคราวที่ผู้ฟังมีอุปนิสัยสามารถจะบรรลุธรรมพิเศษ ก่อนแต่ทรงแสดงอริยสัจ มีอรรถาธิบายว่า ในเบื้องต้น ทรงแสดงประโยชน์แห่งการให้ เพื่อละความเห็นแก่ตัวและความตระหนี่เสียแล้ว มีใจเผื่อแผ่สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยกำลังทรัพย์ของตนเอง ในลำดับนั้น ทรงแสดงประโยชน์แห่งศีล คือความประพฤติเรียบร้อย เพื่อเว้นจากเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำภัยอันตรายให้เกิดขึ้นในหมู่ที่ตนเข้าอยู่ด้วย และเพื่อรู้จักนับถือเขา ในลำดับนั้น ทรงแสดงสมบัติคือความดีความงามอันคนผู้ให้และคนผู้มีศีลจะพึงได้พึงถึงในมนุษยโลก ตลอดขึ้นไปถึงสวรรค์ เป็นอัสสาทะ คือรสอร่อยแห่งกาม เพื่อเห็นอานิสงส์แห่งทานและศีลยิ่งขึ้น ในลำดับนั้น ทรงแสดงอาทีนพแห่งกามว่า แม้ให้สุขโดยประการต่าง ๆ แต่ก็ยังเจือด้วยทุกข์ ไม่ควรเพลิดเพลินโดยส่วนเดียว ควรเบื่อหน่ายด้วยเหมือนกัน ในที่สุดทรงแสดงอานิสงส์แห่งความออกจากกาม คือทำจิตไม่ให้หมกมุ่นอยู่ในกาม เพื่อยังฉันทะให้เกิด คนผู้ไม่เห็นแก่ตัว ให้ทรัพย์ของตนเกื้อกูลผู้อื่น มีศีลประพฤติเรียบร้อย ไม่ทำร้ายเขา และไม่เย่อหยิ่ง ตั้งตนได้ในกามสมบัติแล้ว ไม่เพลิดเพลินหมกมุ่นอยู่ในนั้น ยังแลเห็นโทษและเบื่อหน่าย มุ่งสุขอันสงบยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก เป็นผู้ควรรับเทศนาอย่างสูง คืออริยสัจ เหมือนผ้าอันฟอกหมดจดแล้ว ควรรับน้ำย้อมมีประการต่าง ๆ สุดแต่ผู้ย้อมจะน้อมไปฉะนั้น


มัจฉริยะ ๕

อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่
กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล
ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ
วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ
ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม
อง นวก. ๒๓/๔๘๑

อธิบาย : ความหวงถิ่น ไม่พอใจให้คนต่างด้าว ต่างชาติ ต่างนิกาย เข้ามาอยู่แทรกแซง จัดเป็นอาวาสมัจฉริยะ ความหวงสกุลไม่ยอมให้สกุลอื่นเข้ามาเกี่ยวดองด้วย จัดเป็นกุลมัจฉริยะ ความหวงสกุลอุปัฏฐากของภิกษุ ไม่พอใจให้บำรุงภิกษุอื่น คอยกีดกันเสีย จัดเป็นกุลมัจฉริยะในฝ่ายบรรพชิต ความหวงทรัพย์พัสดุไม่ให้ผู้อื่น จัดเป็นลาภมัจฉริยะ ความหวงคุณความดี ไม่ปรารถนาให้คนอื่นสู้ได้ จัดเป็นวัณณมัจฉริยะ. อีกอย่างหนึ่ง วัณณะแปลว่า สีกาย ความหวงสวยหวงงามอันเป็นกิเลสของหญิงสาว ก็นับเข้าในวัณณมัจฉริยะ. ความหวงธรรม หวงศิลปวิทยา ไม่ปรารถนาจะแสดงจะบอกแก่คนอื่นเกรงว่าเขาจะรู้เทียมตน จัดเป็นธัมมมัจฉริยะ

มาร ๕

ขันธมาร มารคือปัญจขันธ์
กิเลสมาร มารคือกิเลส
อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร
มัจจุมาร มารคือมรณะ
เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร
วิ. ฉยนุสฺสติ. ปฐม. ๒๗๐

อธิบาย : ปัญจขันธ์ ได้ชื่อว่ามาร เพราะบางทีทำความลำบากให้ อันเป็นเหตุเบื่อหน่าย จนถึงฆ่าตัวตายเสียเองก็มี กิเลสได้ชื่อว่ามาร เพราะตกอยู่ในอำนาจแห่งมันแล้ว มันย่อมผูกรัดไว้บ้างย่อมทำให้เสียคนบ้าง อภิสังขารคือกรรมฝ่ายอกุศล ได้ชื่อว่ามาร เพราะทำให้เป็นผู้ทุรพล มัจจุ คือมรณะ ได้ชื่อว่ามาร เพราะตัดชีวิตเสีย. เทวบุตรผู้มุ่งร้าย ได้ชื่อว่ามาร เพราะเป็นบุคลาธิษฐานแห่งสภาวะอันทำลายล้าง ขึ้นชื่อว่าเทวบุตรไม่ใช่เป็นมารทุกองค์ เป็นเฉพาะผู้มุ่งร้าย โดยนัยนี้ ปัญจขันธ์ก็ดี กิเลสก็ดี อภิสังขารก็ดี น่าจะหมายเอาเฉพาะส่วนอันให้ร้าย มัจจุ น่าจะหมายเอาในเวลาที่ชีวิตกำลังเป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน เช่นถ้ายังเป็นอยู่ต่อไปจะได้บรรลุธรรมพิเศษ เช่นพระศาสดาทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส เมื่อครั้งทรงพระดำริหาผู้สมควรรับปฐมเทศนา หรือจักได้สั่งสอนมหาชน เช่น พระศาสดาทรงอธิษฐานพระชนมายุเมื่อแรกจะทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ข้าพเจ้าจึงแก้ไว้อย่างนี้

เวทนา ๕

สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา.
สํ. สฬ. ๑๘/๒๘๗.
อธิบาย : สุขไม่มาเป็นคู่กับโสมนัส เช่นสุขมาในเวทนา ๓ หมายเอาทั้งสุขกายสุขใจ สุขมาเป็นคู่กับโสมนัส เช่นสุขในเวทนา ๕ นี้ หมายเอาเฉพาะสุขกาย ทุกข์ไม่มาเป็นคู่กับโทมนัส หมายอาทั้งทุกข์กายทั้งทุกข์ใจ ทุกข์มาคู่กับโทมนัส หมายเอาเฉพาะทุกข์กาย โสมนัสหมายเอาสุขใจ โทมนัสหมายเอาทุกข์ใจ อุเบกขาหมายเอาความเฉยแห่งใจ เพราะอุเบกขาทางกายไม่มี กายเป็นปกติอยู่จัดว่าเป็นสุข


ฉักกะ หมวด ๖

จริต ๖

๑. ราคจริต มีราคะเป็นปกติ
๒. โทสจริต มีโทสะเป็นปกติ
๓. โมหจริต มีโมหะเป็นปกติ
๔. วิตักกจริต มีวิตกเป็นปกติ
๕. สัทธาจริต มีศรัทธาเป็นปกติ
๖. พุทธิจริต มีความรู้เป็นปกติ
วิ. กมฺมฏฺฐานคฺคห. ปฐม. ๑๒๗.
อธิบาย : คนที่ ๑ มีปกติรักสวยรักงาม จะพึงแก้ด้วยพิจารณากายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน
คนที่ ๒ มีปกติหงุดหงิดโกรธง่าย จะพึงแก้ด้วยเจริญเมตตา
คนที่ ๓ มีปกติเขลางมงาย จะพึงแก้ด้วยเรียน ถาม ฟังธรรม และสนทนาธรรมโดยกาลด้วยอยู่กับครู
คนที่ ๔ มีปกตินึกพล่าน จะพึงแก้ด้วยสะกดอารมณ์ เช่นเพ่งกสิณหรือเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน
คนที่ ๕ มีปกติเชื่อง่าย จะพึงนำไปด้วยกถาเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เช่น กล่าวถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
คนที่ ๖ เรียกว่าญาณจริตก็มี มีปกติใช้ความคิด จะพึงนำไปด้วยแนะให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ เช่นให้คำนึงถึงไตรลักษณ์.

ธรรมคุณ ๖

๑. สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
๒. สนฺทิฏฺฐโก อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง
๓. อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล
๔. เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู
๕. โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
๖. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
อง. ติก. ๒๐/๒๙๔.
อธิบาย : บทว่า สฺวากฺขาโต หมายความกว้าง ท่านพรรณาว่า ได้ใน ๒ สัทธรรม คือ ปริยัติ กับปฏิเวธ ปริยัติ ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะตรัสไม่วิปริต คือตรัสได้จริง เพราะแสดงข้อปฏิบัติโดยลำดับกันที่ท่านเรียกว่า ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด มีทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง และเพราะประกาศพรหมจรรย์ อย่างนั้น ปฏิเวธ ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะปฏิปทากับพระนิพพานย่อมสมควรแก่กันและกัน. ตั้งแต่บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นต้นไป ได้ในปฏิเวธอย่างเดียว
บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก หมายความว่า ผู้ใดได้บรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นเอง รู้เอง ไม่ต้องเชื่อตามคำผู้อื่น
บทว่า อกาลิโก หมายความว่า ให้ผลในลำดับแห่งการบรรลุ ไม่เหมือน
ผลไม้อันให้ผลตามฤดู
บทว่า เอหิปสฺสิโก หมายความว่า เป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาดที่ควรป่าวร้องกันมาดูมาชม
บทว่า โอปนยิโก หมายความว่า ควรน้อมเข้าไว้ในใจของตน หรือควรน้อมใจเข้าไปหา.
บทว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ หมายความว่า ผู้ใดได้บรรลุ ผู้นั้นย่อมรู้แจ้งเฉพาะตน อันผู้อื่นไม่พลอยมาตามรู้ตามเห็นด้วยได้
มติของข้าพเจ้าว่า พระธรรมในที่นี้ดูเหมือนท่านผู้แสดงไม่ได้หมายจะแยกโดยวิภาค กล่าวรวมปนกันไป แต่เมื่อจะกล่าวแยกบทว่า สฺวากฺขาโต น่าจะได้ในปริยัติอย่างเดียว และได้ชื่ออย่างนั้น เพราะตรัสอิงเหตุและเพราะตรัสแต่พอดีเป็นกลาง ไม่หย่อนไม่ตึงด้วยก็ได้ ข้อว่าได้ในปฏิเวธนั้น ความอธิบายอยู่ข้างมัว แม้พรรณนามากไปอย่างไรก็ไม่พ้นมัว และคำว่าปฏิปทากับพระนิพพานสมควรแก่กันและกันนั้น ปฏิปทาก็ได้แก่ปฏิบัตินั้นเอง แก้ไปข้างปฏิบัติก่อนนั่นแลจึงจะกระจ่าง เพราะปฏิบัตินับเข้าในบทนี้ก็ได้ เพราะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาและอนุบุพพปฏิปทา เมื่อปฏิบัติดีแล้ว ผลแห่งปฏิบัติจึงจักปรากฏว่าดีตามกัน
บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก อาจได้ในธรรมอื่นจากปฏิเวธด้วยก็ได้เพราะปริยัติก็ต้องการความเข้าใจที่ได้เห็นเอง ปฏิบัติก็ต้องการความรู้จักทางที่ได้เห็นเอง ในลำดับนั้นปฏิเวธจึงเกิด ที่ให้เจ้าตัวรู้ว่าทำให้แจ้งแล้ว

บทว่า อกาลิโก ก็เหมือนกัน เพราะผู้ฟังปริยัติย่อมได้ปสาทะและศรัทธาเป็นต้นในขณะฟังนั้นเองก็มี ปฏิบัติย่อมเป็นที่นิยมในกาลทุกเมื่อ ไม่เป็นไปในบางคราว และได้อานิสงส์แห่งการปฏิบัติในทันทีก็มี
บทว่า เอหิปสฺสิโก เปรียบด้วยการดูด้วยมังสจักษุ น่าจะได้ในปริยัติและปฏิบัติด้วย เพราะปริยัติเป็นคุณที่ควรจะชวนกันมาฟังและเพราะปฏิบัติเป็นคุณที่ควรจะชวนกันให้ทำตาม เพื่อจะได้ชมปฏิเวธด้วยน้ำใจ
บทว่า โอปนยิโก น่าจะได้ในปฏิบัติด้วย เพราะแม้ปฏิบัติก็ควรน้อมเข้ามาด้วยทำตามหรือทำให้เกิดขึ้น
บทว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ก็เหมือนกัน เพราะการปฏิบัติอันจะให้ได้ผลดี อันผู้ปฏิบัติต้องรู้จักทำให้สมควรแก่ฐานะของตน
เพราะอย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า พระธรรมในที่นี้ ท่านผู้กล่าวไม่ได้หมายจะแยกโดยวิภาค กล่าวรวมกันไป. ไม่กล่าวถึงปฏิบัติธรรมบ้างเลย ไม่เป็นอุบายให้เกิดอุตสาหะ เมื่อไม่ปฏิบัติปฏิเวธจะเกิดขึ้นไฉน ปริยัติอันแสดงเพื่อชักนำให้ปฏิบัติ ก็หาประโยชน์มิได้

สัตตกะ หมวด ๗
วิสุทธิ ๗

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้าม
พ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็น
ว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็น
ทางปฏิบัติ
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ
ม. ม. ๑๒/๒๙๐.

อธิบาย : การรักษาศีลตามภูมิของตนให้บริสุทธิ์ จัดเป็นสีลวิสุทธิ
สมาธิ ทั้งที่เป็นอุปจาร ทั้งที่เป็นอัปปนา โดยที่สุดขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะพอเป็น ปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา จัดเป็นจิตตวิสุทธิ
การพิจารณาเห็นนามรูป โดยปัจจัตตลักษณะ คือลักษณะเฉพาะตน เช่น ธาตุดินมีลักษณะแข็งเป็นต้น และโดยสามัญญลักษณะ คือลักษณะที่เหมือนกันทั่วไป ได้แก่ทุกสิ่งล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จัดเป็นทิฏฐิวิสุทธิ
การกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูปนั้นว่า เพราะอะไรเกิดขึ้น นามรูปจึงเกิดขึ้น เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ จนเป็นเหตุสิ้นสงสัยในนามรูปทั้งที่เป็นมาแล้วในอดีต ทั้งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจักเป็นในอนาคต จัดเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ
ญาณอันรู้จักหยั่งลงว่า นี้ทาง นี้มิใช่ทาง แห่งธรรมพิเศษ จัดเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
วิปัสสนาญาณ ๙ จัดเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ญาณในอริยมรรค ๔ จัดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ. วิสุทธิ ๗ นี้ เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุพระนิพพาน เหมือนรถ ๗ ผลัด ต่างส่งต่อซึ่งคนผู้ไปให้ถึงสถานที่ปรารถนา


อัฏฐกะ หมวด ๘

อวิชชา ๘

๑. ไม่รู้จักทุกข์
๒. ไม่รู้จักเหตุเกิดทุกข์
๓. ไม่รู้จักความดับทุกข์
๔. ไม่รู้จักทางถึงความดับทุกข์
๕. ไม่รู้จักอดีต
๖. ไม่รู้จักอนาคต
๗. ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต
๘. ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท
ขุ. จูฬ. ๓๑/๙. ธมมสงคณี. ๓๔/๑๘๐

อธิบาย : ๔ อย่างข้างต้น ได้แก่ไม่รู้แจ้งอริยสัจ ๔ ไม่รู้จักอดีตนั้น คือ ไม่รู้จักสาวหลัง เมื่อพบเห็นผลในปัจจุบัน ไม่รู้จักสาวหาต้นเค้าว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดมีขึ้น ไม่รู้จักอนาคตนั้น คือ ไม่รู้จักคาดหน้า ไม่อาจปรารภการที่ทำ หรือเหตุอันเกิดขึ้นในปัจจุบันแล้วและคาดหน้าว่าจักมีผลเป็นอย่างนั้น ๆ ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคตนั้น คือไม่รู้จักโยงเหตุในอดีต และผลในอนาคตให้เนื่องถึงกัน ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาทนั้น คือไม่รู้จักกำหนดสภาวะนั้น ๆ โดยความเป็นเหตุเป็นผลแห่งกันและกันเนื่องกันไป ดุจลูกโซ่เกี่ยวกันเป็นสาย ฉะนั้น


นวกะ หมวด ๙

พุทธคุณ ๙

อิติปิ โส ภควา แม้เพราะอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์
๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง
๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
๕. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีแห่งบุรุษพึงฝึกได้
ไม่มีบุรุษอื่นยิ่งไปกว่า
๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย
๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นแล้วเป็นผู้เบิกบานแล้ว
๙. ภควา เป็นผู้มีโชค
อง. ติก. ๒๐/๒๖๕.

อธิบาย


สังฆคุณ ๙

ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
๑. สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
๒. อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว.
๓. ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม.
๔. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร
ยทิทํ นี้คือ
จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คู่แห่งบุรุษ ๔
อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา บุรุษบุคคล ๘
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
๕. อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของคำนับ
๖. ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ
๗. ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรของทำบุญ
๘. อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลี (ประณมมือไหว้)
๙. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โกกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
อง. ติก. ๒๐/๒๖๗.

อธิบาย : พระสงฆ์นี้ หมายเอาจำพวกพระสาวกผู้ได้บรรลุธรรมวิเศษ


ทสกะ หมวด ๑๐

บารมี ๑๐

ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา
ขุ. จริยา. ๓๓/๕๙๖.

อธิบาย : ศัพท์ว่า บารมี สันนิษฐานว่าออกจากศัพท์ บารมี แปลว่าคุณสมบัติหรือปฏิปทาอันยวดยิ่ง ท่านพรรณนาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญมาแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อบารมีเหล่านี้เต็มแล้วจึงจะได้ตรัสรู้ บารมีเหล่านี้กระจ่างแล้วโดยมาก จักแก้เฉพาะบางประการ เนกขัมมะ ได้แก่การออกบวช โดยอธิบายว่าออกจากกาม สัจจะ น่าจะได้แก่ความซื่อตรง หรือความตั้งใจทำจริง หรือการมุ่งแสวงหาความจริง แต่ในชาดกปกรณ์จัดเอาการยกเอาความเป็นจริงอยู่อย่างไร ขึ้นตั้งอธิษฐานเพื่อสำเร็จผลที่มุ่งหมายเป็นสัจจบารมี อธิษฐาน ได้แก่การตั้งใจมั่น อุเบกขา ได้แก่ความไม่ยินดียินร้าย บารมีเหล่านี้ ท่านแจกออกเป็น ๓ หมวด คือ บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี สิริเป็นบารมี ๓๐ ทัศ บารมี ๓ หมวดนี้ต่างกันอย่างไร สันนิษฐานยาก ความเข้าใจของพระคันถรจนาจารย์ ก็ไม่แน่ลงเหมือนกัน ท่านแก้ทานอย่างหนึ่งว่า การให้ไม่ได้ระบุพัสดุ จัดเป็นทานบารมี การให้พัสดุภายนอก จัดเป็นทานอุปบารมี การให้อวัยวะและชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี อีกอย่างหนึ่งว่า การสละพัสดุภายนอก จัดเป็นทานบารมี การสละอวัยวะ จัดเป็นทานอุปบารมี การสละชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี อุปบารมี เป็นศัพท์ที่น่าสันนิษฐานก่อน ตามพยัญชนะแปลว่า บารมีใกล้หรือบารมีรอง เรียงไว้ในระหว่างกลาง สันนิษฐานว่า ปรมัตถบารมีเป็นยอด รองลงมาอุปบารมี โดยนัยนี้ได้ความว่า เป็นบารมีที่รองปรมัตถบารมีลงมา พิเศษกว่าบารมีเฉย ๆ แบ่งบารมีอย่างหนึ่งออกเป็น ๓ จำต้องอาศัยเกณฑ์ ตามที่ท่านตั้งมาแล้ว
ทานแบ่งง่าย สละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่คนมาก หรือเพื่อเปลื้องทุกข์คนอื่น จัดเป็นทาน ปรมัตถบารมี สละอวัยวะแห่งร่างกาย เช่นพยายามเพื่อจะทำประโยชน์หรือเปลื้องทุกข์เขา แต่ต้องเสียอวัยวะของตนในการทำอย่างนั้น จัดเป็นทานอุปบารมี สละทรัพย์เพื่อเกื้อกูลหรือเพื่อเปลื้องทุกข์เขา จัดเป็นทานบารมี ศีลที่รักษาเพราะต้องพร่าชีวิตร่างกายและโภคทรัพย์อาจแบ่งเป็น ๓ ได้เหมือนกัน ส่วนบารมีที่เหลือยังจะต้องหาเกณฑ์แบ่งอีก ไม่ใช่ทำง่าย แม้ทำได้แล้วยังไม่พ้นฟั่นเฝือ ข้าพเจ้าสันนิษฐานเห็นเกณฑ์แบ่งอีกทางหนึ่ง บารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญในชาติห่างไกล ตามที่กล่าวว่า ครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ก็มี เป็นดิรัจฉานก็มี สับสนกัน จัดเป็นเพียงบารมี ที่บำเพ็ญในชาติใกล้เข้ามา ก่อนหน้าปัจฉิมชาติเพียง ๑๐ ชาติ ตามที่กล่าวว่า ครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์เป็นพื้นและเป็นมนุษย์วิสามัญ มีลักลั่นอยู่ชาติเดียวที่ว่า เป็นพระยานาค จัดเป็นอุปบารมี ที่พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญในปัจฉิมชาติ ก่อนหน้าตรัสรู้พระโพธิญาณ จัดเป็นปรมัตถบารมี จักพรรณนาเฉพาะปัจฉิมชาติ พระองค์น้อมพระชนม์เพื่อประโยชน์แก่คนมาก ด้วยพระเมตตา จัดเป็นพระทานบารมีและพระเมตตาบารมี เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จัดเป็นพระเนกขัมมบารมี ทรงสำรวมในศีล สมควรแก่เป็นบรรพชิตจัดเป็นพระศีลบารมี ทรงบำเพ็ญเพียรและทรงอดทนต่อความลำบากยากเข็ญ จัดเป็น พระวิริยบารมีและพระขันติบารมี ทรงตั้งพระหฤทัยมั่นในปฏิปทา ตั้งพระหฤทัยจริง ๆ เพื่อแสวงหาความจริง จัดเป็นพระอธิษฐานบารมีและพระสัจจบารมี ทรงรักษาพระหฤทัยคงที่ ไม่ให้วิการเพราะยินดียินร้าย จัดเป็นพระอุเบกขาบารมี พระปรีชาทำพระองค์ให้เป็นผู้ตื่น รู้เท่าถึงการณ์และอาจเล็งเห็นข้างหน้าไม่งมงาย นำพระองค์ให้หลีกจากกิริยาอันมิใช่ทาง ดำเนินในปฏิปทาอันเป็นทาง ตลอดถึงได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จัดเป็นพระปัญญาบารมี
(เพิ่มคำอธิบายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า)
จัดตามเกณฑ์นี้ สมด้วยเค้าเรื่องที่ท่านจัดไว้เป็น ๓ กาล คือ ทูเรนิทาน เรื่องห่างไกล ๑ อวิทูเรนิทาน เรื่องไม่ไกลนัก ๑ สันติเกนิทาน เรื่องใกล้ชิด ๑ แต่แบ่งระยะกาลต่างกันไป ทูเรนิทาน ท่านจัดจำเดิมแต่ตั้งปรารถนาเพื่อเป็น พระพุทธเจ้า ณ สำนักพระพุทธทีปังกร จนถึงจุติจากชาติเป็นพระเวสสันดร อุบัติขึ้นในดุสิตเทวโลก อวิทูเรนิทาน ตั้งแต่จุติจากดุสิตพิภพ จนถึงตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงไม้พระมหาโพธิ สันติเกนิทาน ตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน ส่วนชาดก จัดเรื่องต่าง ๆ เป็นอันมาก ที่กล่าวความเสวยพระชาติสับสนกัน เป็นสามัญนิบาตอันได้แก่ ทูเรนิทาน จัด ๑๐ เรื่องที่กล่าวความเสวยพระชาติไม่สับสน เว้นเรื่องหนึ่ง เป็นมหานิบาต อันได้แก่อวิทูเรนิทาน โดยนัยนี้ เรื่องในปัจฉิมชาติได้แก่สันติเกนิทาน
บารมี ท่านกล่าวว่า พระปัจเจกพุทธะและพระอริยสาวกได้บำเพ็ญมาเหมือนกัน อย่างเดียวกันกับของพระพุทธเจ้าหรือต่างกัน ไม่ได้กล่าวไว้ชัด น่าจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ระยะกาลสั้นกว่า


กรรม ๑๒
ให้ผลตามคราว
หมวดที่ ๑

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพนี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า
๓. อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพสืบ ๆ
๔. อโหสิกรรม กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว

หมวดที่ ๒
ให้ผลตามกิจ

๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด
๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน

หมวดที่ ๓
ให้ผลตามลำดับ

๙. ครุกรรม กรรมหนัก
๑๐. พหุลกรรม กรรมชิน
๑๑. อาสันนกรรม กรรมเมื่อจวนเจียน
๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ
วิ. กงขา. ตติย. ๒๒๓
อธิบายธรรม ๑๒
หมวดที่ ๑ แสดงเวลาที่กรรมให้ผลว่า กรรมที่ทำแล้วเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ย่อมให้ผลดังนี้คือ กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ เช่น พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า เช่นพระเทวทัตไปเกิดในนรกอเวจี. กรรมบางอย่างให้ผลในภพต่อ ๆ ไปไม่มีกำหนด เช่นพระพาหิยะ ถูกแม่โคขวิดนิพพาน. (ตาย) กรรมบางอย่างไม่มีโอกาสให้ผล เพราะถูกกรรมอื่นที่แรงกว่าทำลาย เช่น พระองคุลิมาล แม้จะฆ่าคนไว้มาก แต่ได้บรรลุพระอรหัตผลนิพพานไปเสียก่อนจึงไม่ต้องไปตกนรก

หมวดที่ ๒ แสดงหน้าที่ของกรรมว่า กรรมที่ทำแล้วมีหน้าที่ อย่างนี้คือ ๑ นำให้ไปเกิดในภพใหม่ เช่นเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา เป็นต้น ๒. ให้การสนับสนุนกรรมอื่นที่เป็นฝ่ายเดียวกัน เช่น คนที่มีบุพเพกตปุญตา ก็จะสนับสนุนความพากเพียรพยายามในปัจจุบันนี้ให้ได้รับความสำเร็จในกิจการที่ทำ ๓. เบียดเบียนกรรมที่ตรงกันข้าม เช่นคนที่ทำปาณาติบาต เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมีโรคมาก มีอุปสรรคมากเป็นต้น ๔. ตัดรอนหรือทำลายกรรมที่ตรงกันข้าม เช่นนันทมานพไปข่มขืนพระอุบลวัณณาเถรี แล้วถูกแผ่นดินสูบ ความจริงนันทมานพนั้นยังหนุ่มอยู่ยังไม่ถึงอายุขัย แต่กรรมที่เขาทำนั้นหนักมาก ไปทำลายกุศลกรรมที่รักษาชีวิตของเขา จึงต้องตาย

หมวดที่ ๓. แสดงลำดับของกรรมที่ให้ผล คือ กรรมหนัก ย่อมให้ผลก่อน เช่นพระเทวทัตได้ทำอนันตริยกรรม คือทำพระโลหิตพระศาสดาให้ห้อขึ้น และทำสังฆเภท แต่เมื่อถูกแผ่นดินสูบถึงกระดูกคาง ได้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ อนันตริยกรรมหนักกว่า การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ฉะนั้น พระเทวทัตจึงต้องตกนรกอเวจีก่อน ต่อจากนั้นจึงจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยกุศลกรรมที่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถ้าไม่มีกรรมหนัก กรรมที่ทำบ่อย ๆ จนเคยชินย่อมให้ผลเหมือนนายโคฆาตคนหนึ่ง ฆ่าโคมา ๔๕ ปี ครั้นใกล้ตายเขาคลานไปมาร้องเหมือนโค ตายไปตกนรก เมื่อไม่มีกรรมเคยชิน กรรมที่ทำ เมื่อเวลาใกล้ตายย่อมให้ผล เหมือนบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งนั่งดูสุนัขของเศรษฐีกินอาหาร เขาเกิดความคิดว่าเป็นหมาเศรษฐี ยังดีกว่าเขาผู้เป็นมนุษย์เสียอีก. หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง เขาตายไปเกิดในท้องแห่งสุนัขตัวนั้นเพราะกรรมคือมโนกรรมอันเป็นอกุศลที่เขาคิดเมื่อใกล้จะตาย เมื่อกรรมที่ทำใกล้ตายไม่มี แม้กรรมที่ทำโดยไม่มีเจตนา ก็ให้ผลได้ เช่น คนที่ทำอะไรโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียของ หรือเสียชีวิต ก็จะถูกคนอื่นทำตนเองให้เสียของ หรือเสียชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นเดียวกัน

****************
ธรรมศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สอบธรรมศึกษาอย่างไร ถึงจะสอบผ่าน