วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิชาวินัย (อุโบสถศีล)

คำนำ(ยังแก้ไขไม่เรียบร้อย)
หนังสืออุโบสถนี้ เป็นหนังสือแบบเรียนวิชาวินัย ตามหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นเอกแต่เดิม ชั้นนี้ไม่มีวิชาวินัย ผู้ศึกษาคงเรียนแต่สามวิชาหลักคือเรียงความแก้กระทู้ธรรม ธรรมมะและพุทธประวัติ
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงได้จัดประขุมเชิงปฏิบัติการ ระดับเลขานุการเจ้าคณะภาค เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดและเลขานุการสำนักเรียนในส่วนกลางเรื่องการสอบธรรมสนามหลวงขึ้น ณ วัดพระยายัง เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้ปรารภว่าหลักสูตรธรรมศึกษามีเนื้อหาสาระมากเกินความจำเป็นสำหรับฆราวาสผู้เรียนชั้นนี้ ซึ่งโดยมากเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ บางส่วนอยู่ระดับประถมศึกษา ทำให้เวลาในการศึกษาไม่เพียงพอจึงไม่สามารถศึกษาให้จบตามหลักสูตรได้
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรให้มีการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้เหมาะสมแก่วัยผู้เรียน โดยธรรมศึกษาทั้งชั้นตรี โท เอก ได้ปรับลดหัวข้อธรรมะ (วิชาธรรม) และพุทธศาสนสุภาษิต (วิชากระทู้ธรรม) ลงบางส่วน เฉพาะธรรมศึกษาชั้นโทได้เพิ่มวิชาวินัย (อุโบสถศีล) เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าถึงหลักการของศีลชั้นสูงสำหรับคฤหัสถ์ อันจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนธรรมศึกษาชั้นเอกก็ได้เพิ่มวิชาวินัย (อาคาริยวินัย) เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงหลักกุศลกรรมบถสำหรับผู้ครองเรือน อันจะนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไปได้เช่นกัน
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงได้มอบให้ พระศรีรัตนโมลี (ชัยวัฒน์ ปญญาสิริ ป.ธ. ๙) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวิชาการ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เรียบเรียงร่างหนังสือเล่มนี้ขึ้นในชั้นแรก จากนั้น ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวิชาการ ประจำสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ร่วมกับนักวิชาการจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้เนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
หลังจากนั้น สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงได้มีลิขิตที่ กธ. ๔๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๖ ถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อนำเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา มหาเถรสมาคมได้พิจารณา ในการประชุมครั้งที่ ๑๗/๒๕๔๖ วันจันทร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ตำหนักเพ็ชรวัดบวรนิเวศวิหาร และลงมติเห็นชอบตามที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงเสนอ
หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ศึกษา หากมีท้วงติงข้อบกพร่องระการหนึ่งประการใด สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงยินดีรับไว้พิจารณาปรับปรุงในโอกาสต่อไป

(พระพรหมมุนี)
แม่กองธรรมสนามหลวง

วัดบวรนิเวศ
วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

บทนำ

พุทธศาสนิกชน คือคนที่นับถือพระพุทธศาสนา อาจจัดได้ ๔ ระดับ คือ ๑. ขั้นบริจาคทาน ๒. ขั้นสมาทานศีล ๕ ๓. ขั้นสมาทานอุโบสถศีล ๔. ขั้นออกบวช ซึ่งเทียบเคียงได้กับเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถถาธรรมบทว่า
มีบุตรชายของเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่งได้เรียนถามพระเถระที่ครอบครัวของตนนับถือว่า กระผมต้องการความพ้นทุกข์ จะทำอย่างไร พระเถระตอบว่า จงถวายสังฆทาน เขาได้ปฏิบัติตามนั้น เวลาผ่านไปไม่นาน เขาถามอีกว่า มีบุญอะไรที่ยิ่งกว่านี้อีกไหม พระเถระตอบว่า จงรับสรณคมน์ และศีล ๕ เขาได้ปฏิบัติตามนั้น ต่อมาได้เรียนถามอีกว่า มีบุญอะไรที่ยิ่งกว่านี้อีกไหม พระเถระตอบว่า จงสมาทานศีล ๑๐ เขาได้ปฏิบัติตามนั้น เวลาผ่านไปไม่นานได้เรียนถามอีกว่า ยังมีบุญอะไรที่ยิ่งกว่านี้อีกไหม พระเถระตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ขอให้ท่านบวชเป็นภิกษุเขาได้บวชตามคำแนะนำของพระเถระ ในที่สุดได้บรรลุพระอรหันต์
ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้ง ๔ ระดับนั้น อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ๑. ผู้บริจาคทานและสมาทานศีล ๕ ยังคงดำเนินชีวิตเหมือนคนสามัญทั่วไปภายใต้ตถาคตโพธิสัทธาและกรอบแห่งศีล ๕ ๒. ผู้สมาทานศีล ๑๐ หรือในบัดนี้สมาทานอุโบสถศีล และผู้ที่ออกบวชจัดเป็นนักพรต เพราะนอกจากจะต้องปฏิบัติตามศีล ๕ แล้ว ยังต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติอันเหมาะสมแก่ภาวะของตนอีกด้วย ดังนั้น ศีลจึงมี ๒ ประเภท คือ ๑. ศีลที่ทั่วไปแก่มนุษย์ทุกคน ใครล่วงละเมิดล้วนเป็นบาปเป็นอกุศลทั้งนั้น ๒. ศีลที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของบุคคลคณะใดคณะหนึ่ง มีโทษเฉพาะบุคคลผู้สมาทานเท่านั้น ผู้ไม่ได้สมาทานประพฤติเช่นนั้นก็ไม่มีโทษอะไร
ศีลที่ทั่วไปแก่มนุษย์ทุกคนนั้นได้แก่ศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ ศีลที่เป็นข้อปฏิบัติเฉพาะบุคคลได้แก่ อุโบสถศีลบางข้อ เช่น อพรหมจรรย์ วิกาลโภชนสิกขาบทเป็นต้น ดังนั้น อุโบสถศีลจึงจัดเป็นศีลที่เป็นข้อปฏิบัติเฉพาะบุคคล ผู้ปฏิบัติจึงมีฐานะเป็นนักพรต
การดำเนินชีวิตแบบสามัญชนทั่วไปก็ดี แบบนักพรตก็ดี ล้วนมุ่งหาความสุขให้แก่ตัวเองทั้งสิ้น แต่ต่างกันที่ความสุขของสามัญชนเป็นสามิสสุข หรือกายิกสุข คือ สุขทางกายอันต้องอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ตลอดถึงยศศักดิ์และอำนาจวาสนาส่วนความสุขของนักพรตเป็นนิรามิสสุข หรือเจตสิกสุข คือความสุขทางใจโดยไม่ต้องอาศัยรูปเสียง เป็นต้นเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยจิตใจที่สงบระงับดับเพลิงกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะเป็นต้น

ผู้สมาทานอุโบสถศีล แม้ชั่ววันหนึ่งและคืนหนึ่งก็ย่อมมีโอกาสได้มาศึกษาหาความสุขทางใจโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก และได้ศึกษาชีวิตของนักพรตด้วยชีวิตจริงของตนเองอันจะนำไปสู่การเปรียบเทียบ ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความสุขที่ต้องมีเหยื่อล่อ กับความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมว่าอย่างไหนจะเป็นความสุขที่แท้จริง และมั่นคงถาวรกว่ากัน


อุโบสถศีล
หลักสูตรวิชาวินัย ธรรมศึกษาชั้นโท
**********************

ศีล

ศีล เป็นเครื่องควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยดีงาม พ้นจากความเบียดเบียนและเป็นเครื่องรองรับกุศลธรรมชั้นสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนถึง มรรค ผลนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชน ก่อนจะบำเพ็ญกุศลอย่างอื่น จึงต้องสมาทานศีลก่อน และก่อนแต่จะสมาทานศีล จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ อุโบสถศีล หรือ ศีล ๑๐ ก็ตาม ล้วนต้องเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยว่าเป็น สรณะ ก่อนทั้งสิ้น
ดังนั้น ก่อนที่จะอธิบายอุโบสถศีล จึงขออธิบายพระรัตนตรัยโดยย่อ พอให้ผู้ศึกษาทราบความเป็นมา ความหมาย และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันบาปอกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติผิด และเพื่อเป็นบุญกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติชอบต่อพระรัตนตรัย

----------------------------------

พระรัตนตรัย

พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มีความสำคัญที่สุดสำหรับ พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นเสมือนประตูที่จะเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ผู้ที่เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาจะเป็นมนุษย์หรือเทวดา จะเข้ามาในฐานะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม ล้วนแต่ต้องเข้ามาทางพระรัตนตรัยทั้งสิ้น ด้วยความเคารพนับถือ บูชา และศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ จึงได้เข้ามาและการจะได้เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา ก็ล้วนแต่ต้องเปล่งวาจาว่า พุทธํ สรณํ คจฉามิ ธมมํ สรณํ คจฉามิ สงฆํ สรณํ คจฉามิ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยจึงเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนควรศึกษา เพื่อความเข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง ตามหัวข้อดังต่อไปนี้
๑. ใครเป็นผู้กล่าวเป็นครั้งแรก
ถามว่า คำว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฉามิ สงฆํสรณํ คจฉามิ ฯเปฯ ใครเป็นผู้กล่าวเป็นครั้งแรก ?
ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นครั้งแรก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ในโอกาสที่ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่ผู้ที่ศรัทธาปรารถนาใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา ดังพระพุทธดำรัสว่า
ผู้มุ่งบรรพชาอุปสมบทอันภิกษุพึงให้ปลงผมและหนวดก่อน แล้วให้นุ่งห่มผ้ากาสายะ ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วพึงสอนให้ว่าตามว่า
พุทธํ สรณํ คจฉามิ
ธมมํ สรณํ คจฉามิ
สงฆํ สรณํ คจฉามิ
ทุติยมฺปิ พุทธํ สรณํ คจฉามิ
ธมมํ สรณํ คจฉามิ
สงฆํ สรณํ คจฉามิ
ตติยมฺปิ พุทธํ สรณํ คจฉามิ
ธมมํ สรณํ คจฉามิ
สงฆํ สรณํ คจฉามิ

๒. ความหมายของคำว่า พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ
คำว่า พุทธะ โดยอรรถะ คือความหมาย ได้แก่บุคคลพิเศษที่มีขันธสันดานอันอบรมด้วยบารมีธรรมมายาวนาน อย่างต่ำที่สุด ๔ อสงไขย กับอีก ๑ แสนกัป จนได้บรรลุอนุตตรวิโมกข์ อันเป็นเหตุให้เกิดอนาวรณญาณ (ความรู้อะไรได้ตลอด) หรือได้รู้ยิ่งซึ่งสัจจะทั้งหลาย อันเป็นปทัฏฐานแห่งสัพพัญญุตญาณ
ส่วนโดยพยัญชนะ คำว่า พุทธะ แปลได้มากมายหลายนัย แต่ที่ทราบกันโดยมาก แปลว่า ผู้รู้ และทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ ผู้ตื่น และทรงปลุกให้ผู้อื่นตื่น จากความหลับด้วยอำนาจของกิเลส ผู้เบิกบาน คือเป็นผู้รู้แล้วสามารถกำจัดกิเลสให้สิ้นไปจากขันธสันดานไปด้วย มิใช่รู้อย่างเดียว
คำว่า ธัมมะ ( ธรรม ) แปลว่า สภาพที่ทรงไว้ โดยความหมายสูงสุด ได้แก่ มรรค หรือวิราคธรรม ( นิพพาน ) เพราะมรรค หรือวิราคธรรม ทรงไว้ซึ่งผู้ที่เจริญมรรค และผู้ทำให้แจ้ง (บรรลุ) พระนิพพานไม่ให้ตกไปในอบายทั้งหลาย (สัตว์ดิรัจฉาน เปรต สัตว์นรกอสุรกาย) และทำให้โปร่งใจอย่างยิ่ง
ส่วนความหมายโดยอ้อม แม้ปริยัติธรรม คือการศึกษาพระพุทธพจน์ และปฏิบัติธรรม คือการฝึกหัดกาย วาจา ใจ ไปตามศีล สมาธิ และปัญญา ก็จัดเป็นธัมมะ ( ธรรม ) ได้ เพราะเป็นปฏิปทาเบื้องต้นอันจะนำไปสู่การบรรลุมรรค และทำให้แจ้งพระนิพพาน ดังกล่าวแล้ว
คำว่า สังฆะ แปลว่า กลุ่มบุคคลผู้รวมตัวกัน คำนี้เป็นชื่อของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง ผู้รวมตัวกันด้วยคุณเครื่องรวมตัว คือ ทิฏฐิ และศีล สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า
ดูก่อนอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง สำหรับเธอทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูก่อนอานนท์ เธอจะไม่เห็นภิกษุแม้สองรูป มีวาทะต่างกันในธรรมเหล่านี้เลย
๓ . ความหมายของสรณะ
สรณะ มีความหมายว่า กำจัด บีบ ทำลาย นำออก และดับซึ่งภัย ความหวาดสะดุ้ง ความทุกข์ ทุคติ และความเศร้าหมอง (กิเลส) อธิบายว่า เมื่อบุคคลเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ โดยการปฏิบัติตามพระธรรม จนสามารถทำลายกิเลส มีความรัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้นได้ ภัยเป็นต้นเหล่านั้นก็จะถูกกำจัด หรือถูกทำลายหมดสิ้นไป
พระพุทธเจ้า ชื่อว่า สรณะ เพราะเป็นผู้กำจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการนำออกจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แล้วได้บรรลุซึ่งสิ่งอันเป็นประโยชน์
พระธรรม ชื่อว่า สรณะ เพราะทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในอบาย คือ ไม่ให้กลายสภาพเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เปรต สัตว์นรก และอสุรกาย และช่วยให้ผู้ปฏิบัติตามได้รับความปลอดโปร่งใจ
พระสงฆ์ ชื่อว่า สรณะ เพราะเป็นเนื้อนาบุญของโลก หมายความว่า พระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ที่เรียกว่า อริยสงฆ์ ใครได้ถวายจตุปัจจัยแก่ท่าน การถวายนั้นย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เกิดความรุ่งเรืองแผ่ไพศาล เพราะเป็นการสนับสนุนคนดีให้มีกำลังทำงานแก่สังคม
๔. ความหมายของคำว่า สรณะคมน์
ดวงใจที่มีความเลื่อมใส และมีความเคารพในพระรัตนตรัยนั้นว่า พระรัตนตรัยเป็นของเรา พระรัตนตรัยเป็นผู้นำทางชีวิตของเรา ซึ่งสามารถนำไปสู่การทำลายกิเลสได้ชื่อว่า สรณคมน์ (การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ)
๕. วิธีถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ
วิธีถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะนั้นมีหลายอย่าง ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะที่ปรากฏ
โดยมาก ๕ วิธี คือ
๕.๑ วิธีสมาทาน ตัวอย่างเช่น พาณิชสองพี่น้อง ผู้มีนามว่า ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้เปล่งวาจาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมเป็นสรณะว่า เอเต มยํ ภนเต ภควนตํ สรณํ คจฉาม, ธมมญจ, อุปาสเก โน ภควา ธาเรตุ อชชตคเค ปาณุเปเต สรณํ คเต แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระธรรมว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะด้วยชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
๕.๒ วิธีมอบตนเป็นสาวก เช่น พระมหากัสสปเถระ ครั้งยังเป็นปิปผลิมาณพออกบวชอุทิศพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ได้ไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิอยู่ที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ ( อรรถกถาว่า ต้นสีขาว ใบสีเขียว ผลสีแดง) ในระหว่างทางเมืองราชคฤห์ไปนาลันทา เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ จึงน้อมกายเข้าไปเฝ้าด้วยความเคารพอย่างยิ่ง แล้วเปล่งวาจามอบตนเป็นสาวกว่า สตถา เม ภนเต ภควา, สาวโกหมสมิ แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก
๕.๓ วิธีทุ่มเทความเลื่อมใสในพระศาสดาหรือยอมนอบน้อม เช่น พรหมายุพราหมณ์ เป็นต้น ในพรหมายุสูตร มัชฌิมนิกาย กล่าวว่า พรหมายุพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ เชี่ยวชาญไตรเวท รู้จักศาสตร์ว่าด้วยคดีโลก และมหาปุริสลักษณะได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระพุทธเจ้าทรงมีมหาปุริสลักษณะครบ ๓๒ ประการ จึงส่งอุตตรมาณพผู้เป็นศิษย์เอกไปพิสูจน์ความจริง อุตตรมาณพรับคำของอาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๐ ประการหมดแล้ว ยังเหลืออีก ๒ ประการ ที่ยังไม่เห็น ครั้นเขาเห็นมหาปุริสลักษณะครบทั้ง ๓๒ ประการและความเป็นไปแห่งอิริยาบถทั้งปวงของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงกลับไปกราบเรียนให้อาจารย์ทราบ ครั้นอุตตรมาณพพรรณามหาปุริสลักษณะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบลง พรหมายุพราหมณ์ก็ได้ลุกขึ้นยืนห่มผ้าเฉวียงบ่า ผินหน้าไปทางทิศที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ประณมมือเปล่งวาจาว่า
นโม ตสส ภควโต อรหโต สมมาสมพุทธสส ๓ ครั้ง
แปลว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๕.๔ วิธีมอบตน เช่นพระโยคีผู้มีศรัทธา ขวนขวายในการเจริญกรรมฐาน ก่อนแต่จะสมาทานกรรมฐาน ต้องกล่าวคำมอบตนต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อิมาหํ ภนเต ภควา อตตภาวํ ตุมหากํ ปริจจชามิ แปลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์ ขอสละอัตตภาพร่างกายนี้แก่พระพุทธองค์
๕.๕ วิธีปฏิบัติหน้าที่ของพุทธบริษัท คือการกำจัดกิเลสทั้งหลาย ทำตนให้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เหมือนพระอริยสาวกบางท่านได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นต้น วิธีนี้จัดว่าเป็นวิธีถึงสรณคมน์ขั้นสูงสุดและมีความมั่นคงที่สุด เป็นโลกุตตรสรณคมน์
๖. การขาดสรณคมน์
บุคคลผู้ถึงสรณคมน์ มี ๒ ประเภท คือ ปุถุชนกับพระอริยบุคคล การขาดสรณคมน์ย่อมมีในปุถุชนเท่านั้น ส่วนพระอริยบุคคลจะไม่ยอมขาดสรณคมน์เด็ดขาดดังสุปปพุทธกุฏฐิ เป็นต้น
พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่วิหารเวฬุวัน สุปปพุทธกุฏฐิซึ่งเป็นโรคเรื้อน ยากจนเข็ญใจ ได้ไปฟังธรรมอยู่ข้างท้ายบริษัทเขาได้บรรลุโสดาบัน ประสงค์จะกราบทูลการบรรลุธรรมให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ แต่ไม่มีโอกาสเพราะบริษัทหนาแน่น จึงกลับไปที่อยู่ของตน ครั้นบริษัทกลับไปหมดแล้ว เขาจึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ท้าวสักกะเทวราชทราบเช่นนั้น จึงได้เสด็จลงมาตรัสกับเขาว่า สุปปพุทธะ ท่านเป็นคนขัดสน ท่านจงกล่าวคำว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าแท้จริง พระธรรมไม่ใช่พระธรรมแท้จริง พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์แท้จริง พอกันทีพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ (เลิกนับถือ) เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านมากมายนับประมาณไม่ได้ สุปปพุทธะ ถามว่า ท่านเป็นใคร ท้าวสักกะตอบว่า เราเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
สุปปพุทธะกล่าวว่า ท่านท้าวสักกะผู้ไม่มีหิริ ท่านพูดว่า ข้าพเจ้าเป็นคนขัดสนจนยาก แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ขัดสนจนธรรม ไม่ได้จนความสุขเลย ท่านไม่สมควรจะพูดเช่นนี้กับข้าพเจ้า คนมีอริยทรัพย์สามารถมีความสุขได้ในสภาพที่คนอื่นเขารู้สึกเป็นทุกข์ ท้าวสักกะเมื่อไม่อาจจะให้สุปปพุทธกุฏฐิพูดอย่างนั้นได้ จึงเสด็จจากเขาไปเฝ้าองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลถ้อยคำที่โต้ตอบกันให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ท้าวสักกะเช่นพระองค์จำนวนร้อยจำนวนพันก็ไม่สามารถจะให้สุปปพุทธกุฏฐิ พูดคำว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ (แท้จริง) เรื่องนี้แสดงให้เห็นทัศนะทางพุทธศาสนาว่า คนผู้บรรลุสัจจะแล้วจะไม่ยอมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เพราะเหตุแห่งทรัพย์ อวัยวะและแม้แต่ชีวิตอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น การขาดสรณคมน์จึงมีได้เฉพาะผู้เป็นปุถุชนเท่านั้น การขาดสรณคมน์มีเพราะเหตุ ๓ อย่าง คือ
๑. เพราะความตาย
๒. เพราะทำร้ายพระศาสดา
๓. เพราะไปนับถือศาสดาอื่น
การขาดสรณคมน์เพราะความตาย เป็นการขาดที่ไม่มีโทษ คือไม่ทำให้ไปสู่ทุคติภูมิ การขาดเพราะทำร้ายพระศาสดาเหมือนพระเทวทัตเป็นต้น ที่คิดทำร้ายพระศาสดาด้วยการสั่งนายขมังธนูไปลอบปลงพระชนม์ กลิ้งศิลาให้ทับ ให้ปล่อยช้างนาฬาคีรีไปทำร้าย และทำสังฆเภทแยกพระสงฆ์ไปจากพระองค์ จัดเป็นการขาดสรณคมน์ที่มีโทษเพราะทำให้พระเทวทัตหลังจากมรณภาพแล้วไปตกนรกอเวจี
ส่วนการขาดสรณคมน์ เพราะไปนับถือศาสดาอื่นนั้นมีมากทั้งในสมัยพุทธกาลและในปัจจุบันนี้ แม้จะไม่ทราบว่าผู้ประพฤติอย่างนั้นตายแล้วไม่ตกนรกเหมือนพระเทวทัตก็ตาม แต่ก็แสดงถึงความไม่น่าเชื่อถือของคนเหล่านั้น ที่พร้อมจะทรยศกับใครก็ได้เมื่อเขาได้ผลประโยชน์ที่มากกว่า ได้ทราบว่าผู้ที่อาศัยผ้าเหลืองบวชเรียนในพระพุทธศาสนาจนจบเปรียญธรรมสูงสุด จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือบวชจนได้เป็นเจ้าคณะตำบล อำเภอแล้ว ได้ถูกศาสนาอื่นซื้อไปหวนกลับมาทำลายพระพุทธศาสนาก็มีไม่ใช่น้อย คนพวกนี้จริง ๆ แล้วเป็นคนไม่มีศาสนาบวชเป็นพระมักจะไม่เชื่อเรื่องบาปบุญ จะไม่ยอมทำกิจวัตร เช่นไหว้พระสวดมนต์จึงไม่รู้จักคำว่านิรามิสสุข วัน ๆ หนึ่งคิดแต่จะหาทรัพย์สินเงินทอง รูปเสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าปรารถนาจึงมีค่าเหมือนคนตกนรกทั้งเป็น ครั้นพอมีใครมาเสนอเงินทองให้ก็รีบไปทันที มักจะไปสอนไปแนะเยาวชนว่า อย่าไปบวชเลยอาจารย์บวชแล้วไม่ได้เรื่องหรอก แต่น่าจะบอกด้วยว่า เมื่อครั้งอาจารย์บวชอยู่อาจารย์ไม่เคยเชื่อเรื่องบาป บุญ คุณโทษ ไม่เคยทำกิจวัตรของพระสงฆ์เลย
การขาดสรณคมน์ด้วยการไปนับถือศาสดาอื่น จึงเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะคนอย่างนั้นแน่นอนว่า เป็นคนไม่มีศาสนาพร้อมที่จะทำลายใครก็ได้ เมื่อตนได้ผลประโยชน์
๗. สรณคมน์เศร้าหมอง
ส่วนบุคคลผู้ที่ประพฤติด้วยความไม่รู้ ความรู้ผิด ความสงสัย และความไม่เอื้อเฟื้อในพระรัตนตรัย สรณคมน์ไม่ขาดแต่เป็นความเศร้าหมอง
ความไม่รู้ คือ ไม่ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาคิดเอาเอง ปฏิบัติเอาเอง แล้วนำไปสั่งสอนผู้อื่น
ความรู้ผิด คือ เรียนพระปริยัติธรรมแต่ไม่เชื่อพระไตรปิกฏ อรรถกถา ตั้งตัวเป็นศาสดาตีความเอาตามความพอใจ
ความสงสัย คือ สงสัยว่าพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์มีจริงหรือเปล่า ทำบุญได้บุญจริงหรือเปล่า ทำบาปแล้วบาปจริงหรือเปล่า ชาติหน้ามีจริงหรือเปล่า นรกสวรรค์มีจริงหรือเปล่า เป็นต้น
ความไม่เอื้อเฟื้อ คือ ไม่ประพฤติต่อพระรัตนตรัยด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่ประกอบด้วยเมตตาคือความปรารถนาดี เช่นตัดเศียรพระพุทธรูป ทำลายโบสถ์ พระเจดีย์ ขโมยพระพุทธรูปไปขาย ประพฤติการไม่สมควรเช่นไปแสดงความรักทางกามราคะตามบริเวณศาสนสถาน เช่น โบสถ์ และพระเจดีย์ เป็นต้น ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมคือคัดค้านพระธรรมว่าไม่สามารถจะให้คุณให้โทษได้จริง ไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่สนใจฟังเมื่อมีการแสดงธรรมตลอดถึงการเหยียบย่ำทำลายหนังสือหรือสิ่งอื่นใดที่จารึกพระธรรม ไม่เอื้อเฟื้อในพระสงฆ์ ด่าว่าพระสงฆ์ ยุยงให้แตกแยกกัน ไม่ทำบุญและขัดขวางผู้อื่นไม่ให้ทำบุญ เป็นต้น
๘. พระรัตนตรัยแยกกันไม่ได้
พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ทั้ง ๓ นี้ แยกจากกันไม่ได้ ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ พระอรรถกถาจารย์ท่าน อุปมาไว้ดังนี้
๑. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงจันทร์ พระธรรมเปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีที่มีความสว่างและเย็นตาเย็นใจของดวงจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนสัตว์โลก ที่ได้รับความสุขสดชื่นจากแสงจันทร์นั้น ข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าถ้ามีแต่ดวงจันทร์ไม่มีแสงจันทร์ คงไม่มีใครเห็นดวงจันทร์ว่าอยู่ที่ไหน หรือถ้ามีดวงจันทร์และมีแสงจันทร์ แต่ไม่มีสัตว์โลกก็คงไม่มีใครเห็นดวงจันทร์และได้รับผลประโยชน์จากดวงจันทร์ ดวงจันทร์กับแสงจันทร์จึงมีค่าเท่ากับไม่มีนั่นเอง
พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ก็เหมือนกัน ถ้ามีแต่พระพุทธเจ้า ไม่มีพระธรรม ก็คงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ คงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะธรรมดาเหมือนเดิมหรือถ้ามีพระพุทธเจ้าและพระธรรม แต่ไม่มีพระสงฆ์ ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ จึงต้องเกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ เกิดอะไรกับส่วนหนึ่งก็กระทบไปถึงอีก ๒ ส่วนด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
๒. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ พระธรรมเปรียบเหมือนแสงสว่างและความร้อนของดวงอาทิตย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนสัตว์โลกที่ได้รับแสงสว่างและไออุ่นจากดวงอาทิตย์
๓. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนก้อนเมฆ พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำฝนอันเกิดจากก้อนเมฆ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกพร้อมทั้งแมกไม้และกอหญ้าที่ได้รับความชุ่มชื่นจากน้ำฝน
๔. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนสารถีผู้ชาญฉลาด พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายวิธีสำหรับฝึกม้า พระสงฆ์เปรียบเหมือนม้าที่ได้รับการฝึกหัดไว้ดีแล้ว
๕. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนหนทางที่ถูก ที่ตรงและมีความปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนคนเดินทางผู้ถึงที่หมายแล้ว
๖. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนคนที่ได้รับทรัพย์สมบัติไปใช้อย่างมีความสุข
๙. ผู้เข้าไปหาพระรัตนตรัยด้วยอกุศลจิตย่อมเกิดโทษ
พระมหาโมคคัลลาเถระ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ได้กล่าวกับมารที่เข้าไปหาพระพุทธเจ้าด้วยประสงค์ร้าย เช่นครั้งเสด็จออกผนวชก็ไปห้ามไว้โดยอ้างว่า จักรรัตนะจะเกิดขึ้นภายใน ๗ วัน ท่านจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่แล้ว จะไปบวชทำไม่ เมื่อตรัสรูแล้ว ก็ได้ไปทูลขอให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามมารว่า ขอให้บริษัทของเรารู้ปริยัติ ปฏิบัติได้ เข้าใจธรรม นำไปใช้เป็นเสียก่อน เราจึงจะนิพพาน ต่อจากนั้นพระยามารก็ติดตามรังควานทั้งพระศาสดาและพระสาวกมาตลอดเวลา แม้แต่พระมหาโมคคัลลาเถระก็ถูกรังควานด้วย ครั้งหนึ่ง พระเถระจึงได้กล่าวกับมารว่า
ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่าเราจะเผาไหม้คนโง่ คนโง่ต่างหากที่เข้าไปหาไฟอันกำลังลุกโซน เขาเข้าไปหาไฟให้เผาไหม้ตัวเขาเอง ดูก่อนมารผู้ใจบาป ไฉนท่านจึงเข้าไปหาพระตถาคต เหมือนคนโง่เข้าไปหาไฟเล่า
คนโง่เข้าไปหาพระตถาคต แทนที่จะได้บุญกลับได้บาป ซ้ำยังสำคัญผิดว่า ไม่เห็นจะบาปอะไร
๑๐. พระรัตนตรัยเป็นสรณะที่ปลอดภัย
ผู้ที่มีจิตใจศรัทธาเลื่อมใส และเคารพนับถือบูชา เชื่อมั่นพระธรรมคำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติตามแม้ด้วยชีวิต ไม่ยอมให้สรณคมน์ขาดไป ย่อมได้รับผลที่น่าปรารถนา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้น ละกายมนุษย์ไปแล้วจักไม่เข้าถึงอบายภูมิ จักทำหมู่เทพให้บริบูรณ์ (ได้ไปเกิดในสวรรค์)
บุคคลใด ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แล้วเห็นอริยสัจ ๔ คือ เห็นทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ซึ่งทำให้ถึง ความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ สรณะนั้นของบุคคลนั้น เป็นสรณะที่ปลอดภัย เป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้น ย่อมพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้.
จากพระพุทธพจน์ที่ได้ยกมานี้ เป็นการรับประกันจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ผู้ที่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะแล้วปลอดภัยพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้นั้น ต้องเห็นอริยสัจ ๔ หมายความว่า ต้องดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอันชอบตามหลักอริยสัจ ๔ ไม่ใช่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะแล้ว ยังกราบไหว้อ้อนวอนขอพรสิ่งอื่น เช่น แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ เทพเจ้า เป็นต้น อันนอกเหนือไปจากพระรัตนตรัย ไม่ปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ ถ้าอย่างนี้จะมาโทษพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่า พึ่งอะไรไม่ได้ ย่อมไม่ยุติธรรมสำหรับพระรัตนตรัย
การที่ได้พบพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะที่ให้ความปลอดภัย ทำลายความทุกข์ได้จริง แล้วไม่ยอมรับนับถือ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ก็เท่ากับคนผู้ปฏิเสธสิริที่เข้ามาหาตน สมกับที่พระมหาปันถกเถระ ได้กล่าวไว้ว่า
ผู้ที่ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไปโดยไม่สนใจศึกษาและปฏิบัติตามโอวาทของพระองค์ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีบุญ เหมือนกับคนที่ใช้มือและเท้าปัดป้องสิริที่เข้ามาหาตนถึงที่นอน แล้วขับไล่ไสส่งออกไป

----------------------------------
อุโบสถศีล

อุโบสถ เป็นเรื่องของกุศลกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของคฤหัสถ์ แปลว่า การเข้าจำ เพื่อหยุดการงานของฆราวาส เช่น ทำนา ทำไร่เป็นต้นไว้ชั่วคราวแล้วมาทำกิจกรรมทางศาสนา เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบาง และเป็นทางแห่งความสงบระงับ อันเป็นความสุขสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนผู้เป็นฆราวาส จึงนิยมเอาใจใส่หาโอกาสประพฤติปฏิบัติตามสมควร
อุโบสถนั้น ปฏิบัติกันมาก่อนพุทธกาล ปรากฏที่มาในอรรถกถาคังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต และในอุโบสถขันธกะ ดังนี้
ในอรรถกถาคังคมาลชาดก มีใจความว่า สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ตรัสเรียกคนรักษาอุโบสถมาแล้ว ตรัสว่า พวกเธอทั้งหลาย ทำความดีแล้วที่รักษาอุโบสถ พวกเธอรักษาอุโบสถ ควรให้ทาน รักษาศีล ไม่ควรทำความโกรธ ควรเจริญเมตตาภาวนา ควรอยู่จำอุโบสถในครบเวลา เพราะว่า บัณฑิตในปางก่อนอาศัยอุโบสถเพียงกึ่งเดียวยังได้ยศใหญ่มาแล้ว อันอุบาสกและอุบาสิกาเหล่านั้นทูลขอร้องแล้ว จึงได้นำเรื่องอดีตมาเล่าว่า
ในอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีทรัพย์มาก มีบริวารเป็นคนดี ชอบทำบุญบริจาคทาน ภรรยา บุตร ธิดา บริวารชน แม้กระทั่งคนเลี้ยงวัวของเศรษฐีนั้น ล้วนเป็นผู้เข้าจำอุโบสถ เดือนละ ๖ วัน ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในครอบครัวคนขัดสน มีอาชีพรับจ้าง เป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสน เขาไปยังบ้านของเศรษฐีเพื่อขอทำงาน เศรษฐีบอกว่า ทุกคนในบ้านนี้ ล้วนแต่เป็นผู้รักษาศีล ถ้าเธอรักษาศีลได้ ก็ทำงานได้ แต่ลืมบอกวิธีรักษาศีลแก่เขา
พระโพธิสัตว์เป็นคนว่าง่าย ทำงานแบบถวายชีวิต ไม่คำนึงถึงความยากลำบาก ตื่นก่อน นอนที่หลังเสมอ ต่อมาวันหนึ่ง มีมหรสพในเมือง เศรษฐีเรียกสาวใช้มาสั่งว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ เธอจงหุงอาหารให้คนงานแต่เช้าตรู่ พวกเขารับประทานอาหารแล้ว จะได้รักษาอุโบสถฝ่ายพระโพธิสัตว์ ตื่นนอนแล้ว ได้ออกไปทำงานแต่เช้ามืด ไม่มีใครบอกว่าวันนี้เป็นวันอุโบสถ คนทั้งหมดรับประทานอาหารเช้าแล้วต่างรักษาอุโบสถ แม้เศรษฐีพร้อมภรรยาและบุตรธิดา ก็ได้อธิฐานอุโบสถ ไปยังที่อยู่ของตนแล้ว นั่งนึกถึงศีล
พระโพธิสัตว์ทำงานตลอดทั้งวัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน จึงได้กลับมา แม่ครัวนำอาหารไปให้ พระโพธิสัตว์ รู้สึกแปลกใจ จึงถามว่า วันอื่น ๆ เวลานี้มีเสียงดัง วันนี้คนเหล่านั้นไปไหนกันหมด ครั้นทราบว่าทุกคนสมาทานอุโบสถ ต่างอยู่ในที่ของตนจึงคิดว่า เราคนเดียวไม่มีศีลในท่ามกลางของผู้มีศีล จะอยู่ได้อย่างไร ? เราจะอธิษฐานอุโบสถ ในตอนนี้จะได้หรือไม่หนอ ? จึงเข้าไปถามเศรษฐี เศรษฐีบอกว่า เมื่อรักษาอุโบสถตอนนี้ จะได้อุโบสถกรรมครึ่งเดียว เพราะไม่ได้อธิษฐานแต่เช้า พระโพธิสัตว์ บอกว่า ครึ่งเดียวก็ได้ขอรับ จึงสมาทานศีลกับเศรษฐีอธิษฐานอุโบสถ เข้าไปยังที่อยู่ของตนนอนนึกถึงศีล ในปัจฉิมยาม หิวอาหารจนเป็นลม เพราะยังไม่ได้รับประทานอาหารเลยตลอดทั้งวัน เศรษฐีนำเอาเภสัชต่าง ๆ มาให้ ก็ไม่ยอมรับประทาน ยอมเสียชีวิต แต่ไม่ยอมเสียศีล ในขณะใกล้จะเสียชีวิต พระเจ้าพาราณสี เสด็จประทักษิณพระนครมาถึงที่นั้น เขาได้เห็นสิริแห่งพระราชา จึงปรารถนาราชสมบัติ ครั้นสิ้นชีวิตแล้ว ได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์อัครมเหสี เพราะผลแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง ครั้นประสูติแล้ว ทรงได้รับขนานพระนามว่าอุทัยกุมาร
ในอุโบสถขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก มีใจความว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ พวกปริพาชกผู้นับถือลัทธิอื่น ประชุมกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ คนจำนวนมากไปฟังธรรมของพวกเขาแล้ว ได้ความรัก ความเลื่อมใส และเป็นพวกกับปริพาชกเหล่านั้น
พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงเกิดความคิดว่า แม้พระสงฆ์ก็สมควรจะประชุมกันในวันเช่นนั้นบ้าง จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลเรื่องนั้นแล้วเสด็จกลับ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมพร้อมกัน ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ ภิกษุทั้งหลายได้ประชุมกันตามพุทธดำรัส แต่นั่งอยู่เฉย ๆ ชาวบ้านมาเพื่อจะฟังธรรมก็ไม่พูดด้วย จึงถูกติเตียนข้อนขอดว่า เหมือนพวกสุกรใบ้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในวัน๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ ภิกษุทั้งหลายได้ทำตามนั้นแล้ว
ทั้ง ๒ เรื่องที่นำมากล่าวนี้ ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า อุโบสถนั้น มีปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว และเป็นชื่อของวันที่เจ้าลัทธินั้น ๆ กำหนดไว้ เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมตามลัทธิของตน ด้วยการงดอาหาร ต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว จึงทรงบัญญัติอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ พร้อมทั้งสรณคมน์ เพราะฉะนั้น อุโบสถ จึงมี ๒ อย่าง คือ
๑. อุโบสถนอกพุทธกาล ได้แก่การเข้าจำด้วยการงดอาหาร ตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้วในวันที่กำหนดไว้ ดังคำที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ ในอรรถกถาคังคมาลชาดกอัฏฐกนิบาตว่า บุตรและภรรยาก็ดี บริวารชนก็ดี ของเศรษฐีนั้น โดยที่สุดแม้คนเลี้ยงโคในเรือนนั้น ทั้งหมดล้วนเข้าจำอุโบสถเดือนละ ๖ วัน
๒. อุโบสถในสมัยพุทธกาล ได้แก่ อุโบสถที่เป็นพุทธบัญญัติ อันประกอบด้วยสรณคมน์ และองค์ ๘ มีปาณาติปาตา เวรมณี เป็นต้น
----------------------------------------
อุโบสถศีลมี ๓ ประการ

๑. ปกติอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่รับรักษากันตามปกติ เฉพาะวันหนึ่งคืนหนึ่งอย่างที่อุบาสกอุบาสิการักษากันอยู่ทุกวันนี้ มีเดือนละ ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรม ๘ ค่ำ วันแรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ
๒. ปฏิชาครอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่รับรักษาเป็นพิเศษกว่าปกติ คือ รักษาคราวละ ๓ วัน คือวันรับวันรักษา และวันส่ง เช่นจะรับอุโบสถวัน ๘ ค่ำ ต้องรับและรักษามาแต่วัน ๗ ค่ำ ตลอดไปจนถึงวัน ๙ ค่ำ จนได้อรุณใหม่ของวัน ๑๐ ค่ำนั่นเองจึงหยุดรักษา
๓. ปาฏิหาริยอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่รับรักษาตลอด ๔ เดือนฤดูฝน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒
ปาฏิหาริยอุโบสถ ถือตามคตินิยมของคนอินเดียในสมัยนั้น เทียบเคียงได้กับเรื่องบัญญัติการจำพรรษาของภิกษุ ในวัสสูปนายิกขันธกะ พระวินัยปิฎกว่า
สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา ภิกษุทั้งหลายเที่ยวจาริกไป ตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร จึงได้เที่ยวจาริกไปอย่างนี้ เหยียบย่ำข้าวกล้าที่เขียวสด เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตทำสัตว์เล็ก ๆ จำนวนมากให้ถึง ความวอดวายเล่า ก็พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระพุทธองค์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ปรารภเหตุนั้นแล้ว ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย คิดว่าพวกเราพึงจำพรรษาเมื่อไรหนอ ? จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์รับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษาในฤดูฝน นี้เป็นคตินิยมของคนอินเดียในสมัยนั้น การรักษาปาฏิ-หาริยอุโบสถ อาจเกี่ยวเนื่องกับคตินิยมนี้ก็ได้

---------------------------------------------

รักษาอุโบสถเพื่อข่มกิเลส

อุโบสถนี้เป็นวงศ์ของโบราณบัณฑิต ท่านเหล่านั้นได้เข้าจำอุโบสถ เพื่อข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น สมดังที่พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวไว้ ในอรรถกถาปัญจุโปสถชาดกว่า
ครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ท่ามกลางบริษัท ๔ในธรรมสภา ทรงทอดพระเนตรดูบริษัทด้วยพระทัยอ่อนโยน ทรงทราบว่า วันนี้เทศนาจะเกิดขึ้นเพราะอาศัยถ้อยคำของอุบาสกทั้งหลาย จึงตรัสเรียกพวกเขามาถามว่า เธอทั้งหลายกำลังรักษาอุโบสถกันหรือ ? เมื่อพวกเขาทูลตอบว่า พระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสว่า พวกเธอทำดีแล้ว ชื่อว่าอุโบสถนี้ เป็นวงศ์แห่งโบราณบัณฑิต ด้วยว่าโบราณบัณฑิตทั้งหลาย ได้อยู่จำอุโบสถ เพื่อข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น อุบาสกเหล่านั้นทูลวิงวอนแล้ว จึงได้นำอดีตนิทานมาตรัสว่า
ในอดีตกาล มีสถานที่อันเป็นป่าน่ารื่นรมย์ยิ่งแห่งหนึ่ง ระหว่างแคว้นทั้ง ๓ มีแคว้นมคธเป็นต้น พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในแคว้นมคธ ครั้นเจริญวัยแล้ว ละกามออกไปยังป่านั้น สร้างอาศรม บวชเป็นฤาษี ในที่ไม่ห่างจากอาศรมของฤาษีนั้น มีนกพิราบสองตัวผัวเมีย อยู่ที่ป่าไผ่แห่งหนึ่ง งูตัวหนึ่งอยู่ที่จอมปลวก สุนัขจิ้งจอกอยู่ที่พุ่มไม้ หมีอยู่ที่พุ่มไม้อีกแห่งหนึ่ง สัตว์ทั้ง ๔ นั้น เข้าไปหาพระฤาษีแล้วฟังธรรมตามเวลาอันสมควร
ครั้นต่อมาวันหนึ่ง นกพิราบสองผัวเมีย ออกจากรังไปหาอาหาร เหยี่ยวได้เฉี่ยวเอาลูกน้อยซึ่งบินตามหลังไป แล้วจิกกินทั้งที่ลูกนกส่งเสียงร้อง นกพิราบเสียใจมาก คิดว่าความรักนี้ทำให้เราทุกข์ใจเหลือเกิน จึงไปยังสำนักของดาบส สมาทานอุโบสถแล้วนอนอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง เพื่อข่มความเสียใจ อันเกิดจากความรัก
ฝ่ายงู ออกจากที่อยู่ไปหากิน ได้ไปยังทางสัญจรของฝูงโค เพราะกลัวเสียงเท้าโค จึงหลบเข้าไปยังจอมปลวกแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น โคอุสภะซึ่งเป็นโคมงคลของนายบ้าน เข้าไปเอาสีข้างถูจอมปลวก ได้เหยียบงูนั้น งูโกรธจัด จึงกัดโคอุสภะนั้นถึงแก่ความตาย พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า โคตาย จึงพากันมาบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น ขุดหลุมฝังแล้วกลับไป งูคิดว่า เราฆ่าโคนี้ เพราะความโกรธ ทำให้คนเป็นจำนวนมาก ต้องเศร้าโศกเสียใจ ถ้าเรายังข่มความโกรธไม่ได้จะไม่ออกไปหากิน จึงไปยังอาศรมของฤาษี สมาทานอุโบสถเพื่อข่มความโกรธแล้ว
ฝ่ายสุนัขจิ้งจอก ออกไปหากินพบซากช้าง เข้าไปภายในท้อง ซากช้างนั้นได้ยุบลงสุนัขจิ้งจอกออกมาข้างนอกไม่ได้ ติดอยู่ในท้องช้างหลายวัน ได้รับความทุกข์ทรมานมาก ต่อมาวันหนึ่ง ฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้หนังของช้างเน่า จึงออกมาได้ คิดว่า เพราะความโลภเราจึงประสบความทุกข์นี้ ถ้ายังข่มความโลภไม่ได้ จะไม่ออกไปหากิน ไปยังอาศรมพระฤาษีสมาทานอุโบสถเพื่อข่มความโลภ
ฝ่ายหมี เกิดความโลภจัด ออกจากป่าไปยังหมู่บ้านชายแดน แคว้นมัลละ พวกชาวบ้านบอกต่อ ๆ กันว่า หมีเข้ามายังหมู่บ้าน ต่างถือธนูและท่อนไม้เป็นต้น ออกไปล้อมพุ่มไม้ที่หมีนั้นหนีเข้าไป ช่วยกันทุบตีจนศีรษะแตก เลือดไหล หมีนั้นคิดว่า ความทุกข์นี้เกิดแก่เราเพราะความโลภจัด ถ้าเรายังข่มความโลภนี้ไม่ได้ จะไม่ออกไปหากิน ไปยังอาศรมของพระฤาษีสมาทานอุโบสถ เพื่อข่มความโลภนั้น
แม้ฤาษีเอง ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมานะถือตัว เพราะอาศัยชาติตระกูล จึงไม่สามารถจะทำฌานให้เกิดขึ้นได้
ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทราบว่าเขาเป็นผู้ถือตัว คิดว่า ผู้นี้ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นพุทธางกูร จะได้บรรลุสัพพัญญุตญาณในกัลป์นี้ เราจักทำการข่มมานะผู้นี้แล้วทำให้เขาได้ฌานสมาบัติ ในขณะที่ฤาษีกำลังนอน ในบรรณศาลา จึงมาจากป่าหิมพานต์ นั่งบนแท่นของฤาษี ฤาษีทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั่งบนอาสนะของตน มีความโกรธ เข้าไปหา ชี้หน้าด่าว่า เจ้าสมณะโล้นถ่อย กาฬกิณี จงฉิบหาย เจ้ามานั่งบนแผ่นหินที่นั่งของข้าทำไม่
พระปัจเจกพุทธเจ้าได้พูดกับฤาษีนั้นว่า ท่านสัตบุรุษทำไม ? จึงถือตัวนักเล่าอาตมาบรรลุปัจเจกพุทธญาณแล้ว ท่านก็จะเป็นพุทธสัพพัญญูในกัลป์นี้ ท่านเป็นหน่อเนื้อพุทธะบำเพ็ญความดีมาแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปเท่านี้ จะเป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ได้ให้โอวาทว่า ท่านเป็นผู้ถือตัว หยาบคาย ร้ายกาจเพื่ออะไร ? ทำอย่างนี้ไม่สมควรแก่ท่านเลยฤาษีนั้น ก็ยังไหว้ท่าน และไม่ถามว่า ตนเองจะได้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อไร ? พระปัจเจกพุทธเจ้าพูดกับเขาว่า ท่านไม่รู้หรอกว่า เราก็มีชาติสูงและมีคุณใหญ่เหมือนกัน ถ้าแน่จริง ก็เหาะให้ได้เหมือนเราสิได้เหาะขึ้นไปในอากาศโปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงบนมวยของเขาแล้ว กลับไปยังป่าหิมพานต์
ฤาษีเกิดความสลดใจ หลังจากพระปัจเจกพุทธเจ้าไปแล้ว คิดว่า พระสมณะนี้มีร่างกายหนักแต่เหาะไปเหมือนปุยนุ่นที่ถูกลมพัด เราไม่ไหว้ท่าน ไม่ถามท่านด้วยความเย่อหยิ่งเพราะชาติ ขึ้นชื่อว่าชาติชั้นวรรณะ จะทำอะไรได้ การประพฤติศีลเท่านั้นเป็นคุณใหญ่ในโลกนี้แต่มานะนี้ของเราเมื่อเจริญขึ้น มีแต่จะนำไปสู่นรก ถ้าเรายังข่มมานะนี้ไม่ได้ จะไม่ไปหาผลาผลจึงเข้าสู่บรรณศาลา สมาทานอุโบสถเพื่อข่มมานะ
เรื่องปัญจอุโบสถชาดกนี้ แสดงให้เห็นว่า ความทุกข์และภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เป็นส่วนตัว หรือสังคมก็ตาม มักเกิดขึ้น เพราะความขาดศีลธรรม การแก้ไขความทุกข์และภัยอันตรายนั้น ควรแก้ด้วยศีลธรรม ไม่ควรแก้ด้วยกิเลส หรือ ด้วยอบายมุข เช่น เสพสิ่งเสพติดและเที่ยวเตร่เสเพล เป็นต้น เพราะยิ่งเพิ่มปัญหาให้มากและกว้างขวางออกไปอีก การเข้าจำอุโบสถสงบจิตใจ จะทำให้เกิดปัญญามองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องได้
------------------------------------------------
อุโบสถศีลมี ๘ สิกขาบท
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และใช้ผู้อื่นให้ฆ่า
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากลักฉ้อของเขาด้วยตนเอง และ ใช้ผู้อื่นให้ลักฉ้อ
๓. อพฺรหฺทจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากประพฤติอสัทธรรม เป็นข้าศึกแก่ พรหมจรรย์
๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากพูดเท็จคำไม่จริง ล่อลวงอำพรางท่านผู้อื่น
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ ดื่มกินซึ่งน้ำเมาคือสุราและเมรัย และเครื่องดองที่เป็นของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาลคือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงเวลาอรุณขึ้นใหม่
๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี
สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม เครื่องประโคมต่าง ๆ
ดูการเล่นแต่บรรดาที่เป็นข้าศึกแก่กุศล และลูบทาทัดทรงประดับตกแต่งซึ่งร่างกาย ด้วยระเบียบดอกไม้และของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม ผัดผิวต่าง ๆ
๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากนั่งนอนบนเตียงตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่งที่นอนอันใหญ่ และเครื่องปูลาดอันงามวิจิตรต่าง ๆ

---------------------------------------------------
อธิบายอุโบสถศีล ๘ ข้อ โดยสังเขป

อุโบสถศีลทั้ง ๘ นั้น สิกขาบทที่ ๑ เว้นจากทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง คือ เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต คำว่า สัตว์ ในที่นี้ ประสงค์ทั้งมนุษย์และเดียรฉานยังเป็นอยู่ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนิด
สิกขาบทนี้มีองค์ ๕ คือ สัตว์มีชีวิต ๑ รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๑ จิตคิดจะฆ่า ๑ พยายามฆ่า ๑ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ๑
สิกขาบทที่ ๒ เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ กิริยาที่ถือเอาในที่นี้ หมายถึง ถือเอาด้วยอาการเป็นโจร สิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ในที่นี้ หมายถึง สิ่งของที่มีเจ้าของ ทั้งที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์ ทั้งที่เป็นอวิญญาณกทรัพย์ อันเจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาด อย่างหนึ่งสิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร แต่มีผู้รักษาหวงแหน เช่น ของสงฆ์ ของส่วนรวมอันเป็นสาธารณะประโยชน์ อย่างหนึ่ง
สิกขาบทนี้มีองค์ ๕ คือ ของมีเจ้าของหวง ๑ รู้ว่ามีเจ้าของหวง ๑ จิตคิดจะลัก ๑พยายามลัก ๑ นำของมาด้วยความพยายามนั้น ๑
สิกขาบทที่ ๓ เจตนาเป็นเหตุก้าวล่วงฐานะ โดยประสงค์จะเสพอสัทธรรม ซึ่งเป็นไปทางกายทวาร ชื่อว่า อพรหมจรรย์ ได้แก่ ความลุอำนาจแก่ราคะแล้วเสพอสัทธรรมในมรรคใดมรรคหนึ่ง บรรดามรรคทั้ง ๓ (ทวารหนัก ทวารเบา ปาก)
สิกขาบทนี้มีองค์ ๔ คือ อัชฌาจรณียวัตถุ วัตถุที่จะพึงประพฤติล่วง (มรรคทั้ง ๓) ๑จิตคิดจะเสพในอัชฌาจรณียวัตถุนั้น ๑ ความพยายามในการเสพ ๑ มีความยินดี ๑
สิกขาบทที่ ๔ การแสดงความเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี จัดเป็นมุสาวาท
สิกขาบทนี้มีองค์ ๔ คือ เรื่องไม่จริง ๑ จิตคิดจะพูดให้ผิด ๑ พยายามพูดออกไป ๑คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น ๑
สิกขาบทที่ ๕ น้ำเมาที่เป็นแต่เพียงของดอง เช่น น้ำตาลเมาต่าง ๆ ชื่อเมรัย เมรัยนั้น เขากลั่นให้เข้มข้นขึ้นไปอีก เช่น เหล้าต่าง ๆ ชื่อสุรา สุราเมรัยนี้ ทำให้ผู้ดื่มเมาเสียสติ สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง จึงได้ชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
สิกขาบทนี้มีองค์ ๔ คือ ของทำให้เมา มีสุราเป็นต้น ๑ จิตใคร่จะดื่ม ๑ ทำพยายามดื่ม ๑ ดื่มให้ล่วงลำคอเข้าไป ๑
สิกขาบทที่ ๖ กาลที่ผู้รักษาอุโบสถศีลจะบริโภคอาหารได้ คือ ตั้งแต่อรุณขึ้นมาแล้วจนถึงเที่ยง เรียกว่า กาล ส่วนตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงก่อนอรุณขึ้น เรียกว่า วิกาล จะบริโภคอาหารในเวลานี้ไม่ได้
สิกขาบทนี้มีองค์ ๔ คือ เวลาตั้งแต่เที่ยงแล้วไปถึงก่อนอรุณขึ้น ๑ ของเคี้ยวของกินสงเคราะห์เข้าในอาหาร ๑ พยายามกลืนกิน ๑ กลืนให้ล่วงลำคอเข้าไป ด้วยความพยายามนั้น ๑
สิกขาบทที่ ๗ การดูที่ชื่อว่าเป็นข้าศึกศัตรูนั้น เพราะขัดแย้งต่อคำสอนของศาสนา การฟ้อนรำ การขับร้อง การดีดสีตีเป่า จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำก็ตาม ถ้าเป็นข้าศึกแก่กุศล จัดเป็นความผิดในสิกขาบทนี้ทั้งสิ้น
สิกขาบทนี้มีองค์ ๓ คือ การเล่นมีฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น ๑ ไปเพื่อจะดูหรือฟัง ๑ ดูหรือฟัง ๑
สิกขาบทที่ ๘ การห้ามที่นั่งที่นอนอันเกินขนาด อันได้ชื่อว่า อุจจาสยนะ และเครื่องปูลาดที่ไม่สมควร อันได้ชื่อว่า มหาสยนะ นั้น เพื่อประสงค์ไม่ให้เป็นของโอ่โถงและยั่วยวนให้เกิดราคะความกำหนัดยินดี พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้เว้นจากที่นั่งที่นอนสูงและที่นั่งที่นอนใหญ่นั้น
สิกขาบทนี้มีองค์ ๓ คือ ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๑ รู้ว่าที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๑ นั่งหรือนอนลง ๑

---------------------------------------
วิธีสมาทานอุโบสถศีล

พระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้ว่า ในอรรถกถาอุโบสถสูตรว่า บุคคลผู้จะเข้าจำอุโบสถศีลนั้น พึงตั้งใจว่า พรุ่งนี้เราจักรักษาอุโบสถ ตรวจตราการทำอาหารเป็นต้นเสียแต่ในวันนี้ สั่งการงานให้เรียบร้อยว่า ท่านทั้งหลายจงทำสิ่งนี้และสิ่งนี้
ในวันอุโบสถ พึงเปล่งวาจาสมาทานองค์อุโบสถ ในสำนักของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ได้ ซึ่งเป็นผู้รู้จักลักษณะของศีล ๑๐ แต่เช้าตรู่ ถ้าไม่รู้บาลี พึงอธิษฐานว่าข้าพเจ้าอธิษฐานอุโบสถที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เมื่อไม่ได้ผู้อื่น พึงอธิฐานด้วยตนเองก็ได้ แต่ควรทำการเปล่งวาจาโดยแท้ เมื่อเข้าจำอุโบสถแล้ว ไม่ควรจัดแจงการงานที่เกี่ยวกับการเบียดเบียนผู้อื่น ควรให้เวลาผ่านไปด้วยการนับอายุและวัย
ส่วนพระฎีกาจารย์อธิบายว่า ตั้งแต่สมาทานศีลแล้ว ผู้รักษาอุโบสถไม่ควรทำกิจอะไรอย่างอื่น ควรให้เวลาผ่านไปด้วยการฟังธรรม หรือมนสิการกรรมฐาน

ระเบียบพิธี
เมื่อถึงวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ผู้รักษาอุโบสถนำภัตตาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน หรือที่ตนศรัทธาเลื่อมใส หลังจากที่พระสงฆ์ทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว พึงเริ่มกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยว่า
ยมหํ สมฺมาสมฺพุทฺธํ ภควนฺตํ สรณํ คโต (หญิงว่า คตา)
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ตรัสรู้ดีโดยชอบ ข้าพเจ้าถึงแล้วว่าเป็นที่พึ่ง กำจัดภัยได้จริง
อิมินา สกฺกาเรน ตํ ภควนฺตํ อภิปูชยามิ
ข้าพเจ้าขอบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วยเครื่องสักการะนี้
ยมหํ สฺวากฺขาตํ ภควตา ธมฺมํ สรณํ คโต (หญิงว่า คตา)
พระธรรมใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าถึงแล้วว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง
อิมินา สกฺกาเรน ตํ ธมฺมํ อภิปูชยามิ
ข้าพเจ้าบูชาซึ่งพระธรรมนั้น ด้วยเครื่องสักการะนี้
ยมหํ สุปฏิปนฺนํ สงฺฆํ สรณํ คโต (หญิงว่า คตา)
พระสงฆ์หมู่ใด เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ข้าพเจ้าถึงแล้วว่าเป็นที่พึ่ง กำจัดภัยได้จริง
อิมินา สกฺกาเรน ตํ สงฺฆํ อภิปูชยามิ
ข้าพเจ้าบูชาซึ่งพระสงฆ์หมู่นั้น ด้วยเครื่องสักการะนี้
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ (กราบ)
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ (กราบ)
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ นมามิ (กราบ)
ต่อจากนั้น ผู้เป็นหัวหน้า พึงนั่งคุกเข่าประนมมือ ประกาศอำอุโบสถ ดังนี้
อชฺช โภนฺโต ปกฺขสฺส อฏฺฐมีทิวโส (๑๔ ค่ำ ให้ว่า จาตุทฺทสีทิวโส ๑๕ ค่ำ ให้ว่า ปณฺณรสีทิวโส , (อมาวสีทิวโส) เอวรูโป โข โภนฺโต ทิวโส พุทฺเธน ภควตา ปญฺญตฺตสฺส ธมฺมสฺสวนสฺส เจว ตทตฺถาย อุปาสกอุปาสิกานํ อุโปสถกมฺมสฺส จ กาโล โหติ ฯ หนฺท มยํ โภนฺโต สพฺเพ อิธ สมาคตา ตสฺส ภควโต ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติยา ปูชนตฺถาย อิมญฺจ รตฺตึ อิมญฺจ ทิวสํ อุโปสถํ อุปวสิสฺสามาติ กาลปริจฺเฉทํ กตฺวา ตํ ตํ เวรมณึ อารมฺมณํ กริตฺวา อวิกฺขิตฺตจิตฺตา หุตฺวา สกฺกจฺจํ อุโปสถงฺคานิ สมาทิเยยฺยาม อีทิสํ หิ อุโปสถกาลํ สมฺปตฺตานํ อมฺหากํ ชีวิตํ มา นิรตฺถกํ โหตุ ฯ
ข้าพเจ้า ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะได้สมาทานรักษาอุโบสถ ตามกาลสมัยพร้อมด้วยองค์ ๘ ประการ ให้สาธุชนที่จะตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกัน ก่อนแต่จะสมาทาน ณ บัดนี้
ด้วยวันนี้ เป็นวันอัฏฐมี ดิถีที่ ๘ (วันจาตุททสี ดิถีที่ ๑๔ วันปัณณรสี , (วันอมาวสี ดิถีที่ ๑๕ ) แห่งปักษ์มาถึงแล้ว ก็แลวันเช่นนี้ เป็นกาลที่จะฟังธรรมและทำการรักษาอุโบสถ เพื่อประโยชน์แห่งการฟังธรรม บัดนี้ขอกุศลอันยิ่งใหญ่ คือ ตั้งจิตสมาทานอุโบสถ จงเกิดมีแก่เราทั้งหลาย บรรดามาประชุม ณ ที่นี้ เราทั้งหลายพึงมีจิตยินดีว่าจะรักษาอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ วันหนึ่งคืนหนึ่ง ณ เวลาวันนี้แล้ว จงตั้งจิตคิดงดเว้นไกลจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป คือฆ่าสัตว์เองและใช้ให้คนอื่นฆ่า ๑ เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ คือลักและฉ้อและใช้ให้ลักฉ้อ ๑ เว้นจากอพรหมจรรย์ ๑ เว้นจากพูดคำเท็จคำไม่จริง และล่อลวงอำพรางท่านผู้อื่น ๑ เว้นจากดื่มกินซึ่งสุราเมรัย สารพัดน้ำกลั่นน้ำดอง อันเป็นของให้ผู้ดื่มแล้วเมา ซึ่งเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ตั้งแต่พระอาทิตย์เที่ยงแล้ว ไปจนถึงเวลาอรุณขึ้นใหม่ ๑ เว้นจากฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรี และดูการเล่นบรรดาเป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงระเบียบดอกไม้ ลูบไล้ทาตัวด้วยของหอม เครื่องย้อมเครื่องแต่งและประดับร่างกายด้วยเครื่องอาภรณ์วิจิตรงดงามต่าง ๆ ๑ เว้นจากนั่งนอนเหนือที่นั่งที่นอนอันสูง มีเตียงตั่งสูงกว่าประมาณ และที่นั่งที่นอนอันใหญ่ภายในมีนุ่นและสำลี และเครื่องลาดอันวิจิตรงดงาม ๑ จงทำความเว้นองค์ที่จะพึงเว้น ๘ ประการนี้ เป็นอารมณ์ อย่ามีจิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น จงสมทานองค์อุโบสถ ๘ ประการนี้โดยเคารพเถิดเพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยข้อปฏิบัติอย่างยิ่ง ตามกำลังของเราทั้งหลาย ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ชีวิตแห่งเราทั้งหลายเป็นมาถึงวันอุโบสถนี้ จงอย่าล่วงไปปราศจากประโยชน์เลย
ต่อจากนั้น พึงกล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน ดังนี้
มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ อุโปสถํ ยาจาม (ว่า ๓ จบ)
เสร็จแล้ว พึงตั้งใจรับสรณคมน์และอุโบสถศีลโดยเคารพ โดยว่าตามคำที่พระสงฆ์บอกดังนี้
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมมาสมฺพุทฺธสฺส (ว่า ๓ จบ)
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ฯ
เมื่อพระสงฆ์ว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ พึงรับพร้อมกันว่า อาม ภนฺเต ต่อจากนั้น พึงรับอุโบสถศีลทั้ง ๘ ข้อ ดังกล่าวไว้แล้วข้างต้นต่อไปนี้
เมื่อรับศีลจบแล้ว พึงกล่าวตามพระสงฆ์ว่า อิมํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ, พุทฺธปญฺญตฺตํ อุโปสถํ, อิมญฺจ รตฺตึ อิมญฺจ ทิวสํ, สมฺมเทว อภิรกฺขิตํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานอุโบสถ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ, นี้เพื่อจะรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ขาดไม่ให้ทำลาย ตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ณ เวลาวันนี้ พระสงฆ์บอกต่อว่า อิมานิ อฏฺฐ สิกฺขาปทานิ อชฺเชกํ รตฺตินฺทิวํ อุโปสถวเสน สาธุกํ รกฺขิตพฺพานิ ให้รับพร้อมกันว่า อาม ภนฺเต แล้วพระสงฆ์จะบอกอานิสงส์ของศีลต่อไป ดังนี้
สีเลน สุคตึ ยนฺติ, สีเลน โภคสมฺปทา, สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ, ตสฺมา สีลํ วิโสธเยฯ
จบพิธีสมาทานอุโบสถศีลเพียงเท่านี้ ต่อจากนั้น พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาหรือมนสิการกรรมฐานต่อไปนี้ เมื่อรักษาครบเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งแล้ว การสมาทานก็สิ้นสุดลง

----------------------------------------------
อุโบสถศีลมีผลน้อยและมีผลมาก

การบำเพ็ญบุญกุศลในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ
อย่างต่ำ อย่างกลาง และอย่างสูง
การทำบุญด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสาอย่างต่ำ จัดเป็นบุญอย่างต่ำ
การทำบุญด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสาอย่างกลาง จัดเป็นบุญอย่างกลาง
การทำบุญด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสาอย่างสูง จัดเป็นบุญอย่างสูง
การทำบุญเพราะต้องการชื่อเสียง จัดเป็นบุญอย่างต่ำ
การทำบุญเพราะต้องการผลบุญ จัดเป็นบุญอย่างกลาง
การทำบุญเพราะสำคัญว่าเป็นสิ่งควรทำ จัดเป็นบุญอย่างสูง

แม้การสมาทานรักษาอุโบสถศีล ก็เช่นเดียวกัน อัธยาศัยของผู้สมาทานย่อมแตกต่างกันไป ทำให้ได้ผลไม่เหมือนกัน ผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสแก่นางวิสาขาในอุโบสถสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนวิสาขา อุโบสถมี ๓ อย่าง คือ โคปาลกอุโบสถ ๑ นิคคัณฐอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑
๑. โคปาลกอุโบสถ หมายถึง อุโบสถที่อุบาสกอุบาสิการักษา มีอาการเหมือนคนเลี้ยงโค ทรงอธิบายว่า คนเลี้ยงโค มอบโคทั้งหลายให้เจ้าของในเวลาเย็นแล้วคำนึงอย่างนี้ วันนี้ โคเที่ยวหากินในที่โน้น ๆ ดื่มน้ำในที่โน้น ๆ ทีนี้ พรุ่งนี้ โคจักเที่ยวหากินในที่โน้น ๆ จักดื่มน้ำในที่โน้น ๆ ฉันใด คนรักษาอุโบสถบางคน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คำนึงไปอย่างนี้ว่า วันนี้นะ เราเคี้ยวกินขาทนียะสิ่งนี้ ๆ บริโภคโภชนียะสิ่งนี้ ๆ พรุ่งนี้ เราจักเคี้ยวกินขาทนียะสิ่งนี้ ๆ จักบริโภคโภชนียะสิ่งนี้ ๆ คนรักษาอุโบสถ ผู้นั้นมีใจไปกับความยาก ใช้วันให้หมดไปด้วยความอยากนั้น การรักษาอุโบสถเช่นนี้ ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ดังเรื่องเล่าของคนถือศีลไปเกิดเป็นเปรต แต่คนตกเบ็ดได้ขึ้นสวรรค์ ว่า
ในอุโบสถ มีคนกลุ่มหนึ่งไปถือศีลอยู่บนศาลาวัด ส่วนคนอีกคนหนึ่งไปนั่งตกปลาอยู่ที่ฝั่งคลองตรงข้ามศาลา วันนั้นปลากินเบ็ดดี คนตกเบ็ดวัดเอา ๆ ได้ปลามาก คนถือศีลอยู่บนศาลา มองไปที่คนตกปลา ก็เกิดความโลภอยากได้ปลา นึกว่าทำไมวันนี้ต้องเป็นวันอุโบสถถ้าไม่เช่นนั้นคงได้ปลากับเขาบ้าง จิตใจคิดถึงแต่ปลา ไม่เป็นอันคิดถึงศีล คิดถึงกรรมฐาน และฟังธรรมเลย ฝ่ายคนตกปลามองไปบนศาลาวัดเห็นคนนุ่งขาวห่มขาวถือศีลกัน แต่ตัวเองต้องมานั่งตกปลาไม่รู้จักว่าวันโกนวันพระ เกิดหิริโอตตัปปะ กลับไปถึงบ้าน หยุดการทำบาป เกิดสัมปัตตวิรัติขึ้นมาใจเลยสบาย ส่วนคนถือศีล ร้อนรนไปด้วยความโลภ เร่งวันเวลา ใจจึงมีแต่ความทุกข์ คนขึ้นสวรรค์คือคนที่ใจมีความสุข คนตกนรกคือคนที่ใจมีแต่ความทุกข์ ดังคำพูดที่ว่า สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะจิตใจไม่ได้เข้าถึงธรรมเลย
๒. นิคคัณฐอุโบสถ หมายถึง อุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ทรงอธิบายว่าครั้นถึงวันอุโบสถ นิครนถ์จะเรียกพวกสาวกมาสอนว่า สูเจ้าจงเปลื้องผ้าออกให้หมดแล้วประกาศตนอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องกับใคร ๆ ในที่ไหน ๆ และความกังวลในสิ่งอะไร ๆ และในที่ไหน ๆ ก็ไม่มี แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกเขายังรู้จักญาติพี่น้องพวกพ้องของเขา และญาติพี่น้องพวกพ้องของเขา ก็รู้จักเขา และเขาก็ยังต้องรับอาหารจากคนอื่นอยู่ ดังนั้น สิ่งที่นิครนถ์
สอนนั้น จึงไม่เป็นความจริงได้
คนรักษาอุโบสถก็เช่นเดียวกัน บางคนเชื่อถือในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หลงอาจารย์หลงสำนักทิ้งพ่อแม่ ทิ้งลูก จนขาดความกตัญญูกตเวที และไม่ทำหน้าที่ของบุพพการี ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัว การถือศีลหรือการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ย่อมไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด เพราะเป็นความประพฤติที่เลยศีล เลยธรรม หรือทำลายระบบศีลธรรมนั่นเอง
๓. อริยอุโบสถ หมายถึง อุโบสถที่อุบาสกอุบาสิการักษา ประเสริฐพิเศษโดยข้อปฏิบัติ ทรงอธิบายว่า จิตของมนุษย์ที่เศร้าหมองด้วยอำนาจกิเลสนี้ สามารถชำระล้างให้สะอาดได้ด้วยความเพียร เหมือนศีรษะที่เปื้อน ทำให้สะอาดได้ด้วยเครื่องสนานศีรษะ ร่างกายที่เปื้อน ทำให้สะอาดได้ด้วยเครื่องชำระล้างร่างกาย ผ้าที่สกปรก ฟอกให้สะอาดได้ด้วยเครื่องซักผ้า แว่นที่มัวหมองทำให้ใสได้ด้วยน้ำมัน ทองคำที่หมองคล้ำ ทำให้สุกปลั่งได้ด้วยเครื่องมือของช่างทองและสิ่งที่จะทำจิตอันเศร้าหมองให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้นั้น คือ
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณความดีของพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงความดีของพระสงฆ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
๕. เทวตานุสสติ ระลึกถึงความดีที่ทำให้เป็นเทวดา มี ศรัทธา ศีล สุตะจาคะ และ ปัญญา เป็นต้น
เมื่อผู้รักษาอุโบสถระลึกถึงอนุสสติทั้ง ๕ นี้ ชื่อว่าประพฤติพรหมอุโบสถ ธัมมอุโบสถสังฆอุโบสถ สีลอุโบสถ และเทวตาอุโบสถ จิตของเธอปรารภพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ศีล และเทวดา ย่อมผ่องใส ความปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมละอุปกิเลสเสียได้ การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ ด้วยความเพียรอย่างนี้แล
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไปว่า ดูก่อนวิสาขา อริยสาวกนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นด้วยตนเองอย่างนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้น ขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายบาป มีความเอ็นดู เกื้อกูล อนุเคราะห์สรรพสัตว์อยู่ตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละอทินนาทานแล้ว เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนอันไม่เป็นขโมย เป็นผู้เป็นอยู่สะอาดตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนและวันหนึ่ง ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละอพรหมจรรย์แล้ว เป็นพรหมจารี เว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้านตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างหนึ่งและอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้วอย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละมุสาวาทแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่คำจริงพูดจริงเสมอ มีถ้อยคำมั่นคง เป็นที่วางใจได้ ไม่ลวงโลกตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างหนี่งและอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแล้วเป็นผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วงองค์อุโบสถนี้ เราได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย บริโภคอาหารครั้งเดียว งดอาหารในราตรี เว้นจากการบริโภคในเวลาวิกาลตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้เราได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้วอย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมดนตรี ดูการเล่น การประดับตกแต่งกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องทาผิวอันเป็นฐานแต่งตัวตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และ อุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละที่นอนสูงที่นอนใหญ่แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากที่นอนสูงที่นอนใหญ่ ใช้ที่นอนต่ำ บนเตียงบ้าง บนเครื่องลาดทำด้วยหญ้าบ้างตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง

ดูก่อนวิสาขา อริยอุโบสถเป็นอย่างนี้แล อุโบสถที่รักษาแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก
ในคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อริยอุโบสถซึ่งเป็นอย่างอุกฤษฏ์ ผู้ที่ปฏิบัติมักรักษาไม่ใคร่ได้ รักษาได้แต่เพียงโคปาลกอุโบสถโดยมาก ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถรักษาให้เป็นอริยอุโบสถ หรืออย่างน้อยที่สุดให้ได้สักวันหนึ่ง จะรู้สึกว่าเป็นบุญกุศลอันพิเศษทั้งจะได้รับรสคือปีติปราโมทย์อย่างมาก ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
----------------------------------------

อานิสงส์ของอุโบสถศีล

ศีลทุกประเภทที่บุคคลรักษาด้วยจิตศรัทธา จะด้วยการสมาทาน หรือการงดเว้นเฉพาะหน้าก็ตาม ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความเจริญแผ่ไพศาลมาก เพราะศีลนั้น สามารถสร้างสวรรค์ สร้างความเสมอภาค และสร้างความปลอดภัยให้แก่มนุษย์ได้
๑. ศีลสร้างสวรรค์แก่มนุษย์
ศีลนั้น สามารถสร้างสวรรค์แก่มนุษย์ได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่นางวิสาขา ในวิสาขาสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า
ดูก่อนวิสาขา อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันบุคคลเข้าจำแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก มีผลมาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความเจริญแผ่ไพศาลมาก ดูก่อนวิสาขา การที่สตรี หรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ หลังจากเขาแตกกายทำลายขันธ์แล้ว พึงได้อยู่ร่วมกับชาวสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิตชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ข้อนั้นย่อมเป็นไปได้แน่นอน
๒. ศีลนั้นสร้างความเสมอภาคแก่มนุษย์ได้
ศีลนั้นสร้างความเสมอภาคแก่มนุษย์ได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับอุบาสกชื่อว่า วาเสฏฐะ ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า
ดูก่อนวาเสฏฐะ แม้ถ้ากษัตริย์ทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลาย แพศย์ทั้งหลายและศูทรทั้งหลาย พึงเข้าจำอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ การเข้าจำนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่กษัตริย์ แก่พราหมณ์ แก่แพศย์ และแก่ศูทรทั้งหลาย เหล่านั้น ชั่วกาลนานเหมือนกัน (คือได้ไปเกิดในสุคติได้เท่าเทียมกัน)
๓. ศีลสร้างความปลอดภัยแก่มนุษย์
ศีลนั้นสร้างความปลอดภัยแก่มนุษย์ได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอภิสันทสูตร ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย มีใจความว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในศาสนานี้ ละปาณาติบาต เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาตละอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน ละกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร ละมุสาวาท เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท ละสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน เป็นผู้เว้นจากสุราเมรย-มัชชปมาทัฏฐาน ชื่อว่า เขาได้ให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร และความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์ทั้งหลาย หาประมาณมิได้ ตัวเขาเองก็ย่อมมีส่วน ( ได้รับ ) ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร และความไม่ถูกเบียดเบียนด้วย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานทั้งห้านี้ เป็นมหาทาน รู้กันว่าเป็นเลิศ (กว่าทานทั้งหลาย) รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็นวงศ์ (ของอริยะ) เป็นของเก่า อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูชนไม่คัดค้านไม่ลบล้าง
อนึ่ง แม้บุคคลผู้อำนวยความสะดวก และให้การสนับสนุนผู้รักษาศีล ด้วยการให้อาหารเป็นต้น ก็ย่อมได้ผล ได้อานิสงส์ ได้ความรุ่งเรือง และความเจริญแผ่ไพศาลมากเช่นเดียวกัน ดังเรื่องของปุโรหิตคนหนึ่ง
เล่ากันมาว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ ได้เป็นพระเจ้ากรุงพาราณสี เป็นผู้ไม่ประมาทในการบริจาคทาน รักษาศีล และอุโบสถกรรม ทรงชักชวนอำมาตย์เป็นต้น ให้บำเพ็ญกุศลเช่นนั้น คนทั้งหมดได้ทำตาม แต่มีปุโรหิตอยู่คนหนึ่งที่ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา เป็นผู้หากินบนหลังคน ด้วยการกินสินบน จึงไม่สมาทานศีล
ในวันอุโบสถวันหนึ่ง ตอนกลางวัน เขารับสินบนทำคดีโกงแล้วไปเฝ้าพระราชาถูกตรัสถามว่า อาจารย์ ท่านรักษาอุโบสถด้วยหรือ จึงทูลเท็จว่า พระพุทธเจ้าข้า แล้วถวายบังคมลากลับไป อำมาตย์คนหนึ่งท้วงเขาว่า ท่านไม่ได้รักษาอุโบสถมิใช่หรือ เขาพูดว่า เราบริโภคอาหารในเวลาเท่านั้นไปบ้านแล้ว บ้วนปาก อธิฐานอุโบสถตอนเย็น จักรักษาศีลตอนกลางคืน เมื่อเป็นเช่นนี้อุโบสถกรรมกึ่งหนึ่งจักมีแก่เรา ครั้นไปถึงเรือนแล้ว ได้ทำอย่างนั้น
ในวันอุโบสถอีกวันหนึ่ง สตรีผู้หนึ่งคิดว่า จะต้องรักษาอุโบสถกรรมให้ได้เมื่อเวลาใกล้เข้ามา จึงเริ่มจะบ้วนปาก เขารู้ว่าสตรีนั้น เป็นผู้รักษาอุโบสถ จึงให้ผลมะม่วงแก่เธอ ความดีของเขามีเพียงเท่านี้ ครั้นเขาสิ้นชีวิต ได้เกิดเป็นเวมานิกเปรต ห้อมล้อมด้วยนางเทพกัญญามากมายเขาเสวยสมบัติเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวัน ต้องเข้าไปอยู่ในป่ามะม่วง อัตภาพอันเป็นทิพย์หายไป มีร่างกายที่น่าเกลียด ถูกไฟไหม้ลุกโชนทั้งตัว มือของเขามีนิ้วข้างละนิ้ว เล็บนิ้วมือขนาดเท่าจอบเล่มใหญ่ ๆ เขาเอาเล็บมือทั้งสองนั้นกรีดเนื้อหลังของตนควักออกมากิน ได้รับความเจ็บปวด ร้องลั่นป่า ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ร่างกายนั้นก็หายไปกายอันเป็นทิพย์เกิดขึ้นแทน กลับสู่วิมานดังเดิม เขาได้ทิพย์วิมานอันน่ารื่นรมย์ เพราะผลแห่งการให้ผลมะม่วงแก่หญิงผู้รักษาอุโบสถ เขาควักเนื้อหลังของตนเองออกมากิน เพราะผลแห่งการรับสินบนและตัดสินคดีโกงเขามียศใหญ่ ไปที่ไหนมีนางเทพกัญญาห้อมล้อม เพราะผลแห่งการรักษาอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง
ศีล สร้างสวรรค์ให้แก่มนุษย์ สร้างความเสมอภาคให้แก่มนุษย์ สร้างความปลอดภัยให้แก่มนุษย์ และให้สมบัติที่นาปรารถนาแก่มนุษย์ ตามที่กล่าวมาจึงควรรักษาศีลให้ดี มิให้ขาดมิให้ด่างพร้อย ดังพรรณนามา ฉะนี้

----------------------------------------
วิธีปฏิบัติตนของอุบาสก อุบาสิกา

บุคคลผู้สมาทานอุโบสถศีล จัดว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย เป็นบุรุษ เรียกว่า อุบาสก เป็นสตรีเรียกว่า อุบาสิกา ตามคำประกาศอุโบสถว่า ตทตถาย อุปาสกอุปาสิกานํ อุโปสถกมมสส กาโล โหติ แปลว่า วันนี้ เป็นเวลาที่จะรักษาอุโบสถ แห่งอุบาสก และอุบาสิกา เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรมนั้น ดังนั้น เพื่อความเข้าใจวิธีปฏิบัติตนของอุบาสกและอุบาสิกา จึงได้นำคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ผู้รจนาอรรถกถาที่ฆนิกาย สีลขันธวรรค ชื่อ สุมังคลวิลาสินี มาแสดง โดยท่านได้อธิบายด้วยวิธีตั้งเป็น กเถตุกัมยตาปุจฉา คือ ถามเองตอบเอง ดังนี้
๑. ถามว่าใครเป็นอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า คฤหัสถ์ ทุกคนผู้ถึงสรณะ (พระรัตนตรัย) ชื่อว่า อุบาสก อุบาสิกา สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุที่บุคคลผู้เป็นอุบาสก เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ดูก่อนมหานาม บุคคล ชื่อว่าเป็นอุบาสก เพราะเหตุเพียงเท่านี้แล
๒. ถามว่า บุคคลชื่อว่า เป็นอุบาสก อุบาสิกา เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะเป็นผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย อธิบายว่า ผู้ใดนั่งใกล้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ผู้นั้น ชื่อว่าอุบาสก อุบาสิกา คำว่านั่งใกล้ หมายความว่า เข้าไปหา เพื่อต้องการจะฟังธรรม ถวายทานรักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าเข้าไปหาเพื่อขอลาภ ขอความช่วยเหลือ ความกลัว หรือความเป็นญาติเป็นต้น ไม่ชื่อว่า นั่งใกล้ ในความหมายว่า อุบาสก อุบาสิกา นี้
๓. ถามว่า อะไรเป็นศีลของอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า เวรมณี (เจตนาขับไล่เวร) ๕ ข้อ เป็นศีลของอุบาสก อุบาสิกา สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุที่ผู้เป็นอุบาสก เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจาก อทินาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสก ชื่อว่า เป็นผู้มีศีล
๔. ถามว่า อะไรเป็นอาชีวะของอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า การละเว้นมิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายผิดศีลธรรม ๕ ประการ แล้วหาเลี้ยงชีพด้วยการงานที่ชอบธรรม ชื่อว่า อาชีวะของอุบาสก อุบาสิกา สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างนี้ อันผู้เป็นอุบาสก ไม่พึงทำ คือ ๑. การค้าขายศัสตรา ๒. การค้าขายมนุษย์ ๓. การค้าขายสัตว์
(ข้อ ๒ - ๓ แปลตามอรรถกถา อังคุตตรนิกาย) ๔. การค้าขายน้ำเมา
๕. การค้าขายยาพิษ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างนี้แล อัน
อุบาสกไม่พึงทำ

๕. ถามว่า อะไรเป็นวิบัติของอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า ศีลวิบัติ
และอาชีวะวิบัตินั่นเอง จัดเป็นวิบัติของอุบาสก อุบาสิกา

อีกอย่างหนึ่ง อุบาสก อุบาสิกา เป็นคนจัณฑาล (รับศีลแต่ปาก) เป็นคนใจสกปรก เป็นอุบาสกชั้นต่ำด้วยความปฏิบัติใด ความปฏิบัตินั้นพึงทราบว่า
เป็นความวิบัติของพวกเขา ความปฏิบัตินั้น ได้แก่ธรรม ๕ ประการ มีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสก ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นอุบาสกจัณทาล เป็นคนใจสกปรก เป็นอุบาสกชั้นต่ำ ธรรม ๕ ประการคือ ๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีศีล ๓. เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว ๔. เป็นผู้เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม ๕. แสวงหานักบุญนอกศาสนาและทำบุญในบุคคลนั้น

๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา หมายถึงไม่มีตถาคตโพธิศรัทธา คือ ความเชื่อใน
ความตรัสรู้ของพระตถาคต อันเกิดขึ้นภายหลังจากเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว
เพราะเขาเข้ามานับถือด้วยความเชื่อที่ผิด ยกตัวอย่าง เช่น สุนักขัตตลิจฉวี เข้า
มาบวชในพระพุทธศาสนา เพราะมีความเชื่อที่ผิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอิทธิ
ปาฏิหาริย์ และสามารถบัญญัติสิ่งที่เป็นเลิศ คือ สามารถบอกสิ่งที่เป็นต้นเดิมของ
สิ่งทั้งหลายได้ เขาบวชแล้วได้ติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเวลา ๑๒ ปี แต่
กลับไม่เคยเห็นพระองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น และไม่เคยได้ยินพระองค์ทรงบอกว่าใครเป็นผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในโลก มีแต่ทรงสอนว่า แม้พระองค์จะแสดงปาฏิหาริย์เช่นนั้นให้ดู ก็ไม่ช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ได้เลย ในที่สุดเขาได้ละเพศภิกษุไป และเที่ยวพูดในที่ต่าง ๆ ว่า พระสมณะโคดมไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์แต่อย่างใด

แม้ในปัจจุบันนี้ การเข้าวัดด้วยความเข้าใจผิดอย่างนี้ ก็ยังมีอยู่ไม่น้อยเลย ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้เข้ามาแล้ว บางครั้งยังเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาด้วย บางทีพระสงฆ์ก็เป็นผู้ทำเรื่องนี้เสียเอง เช่นบางรูป หวังลาภสักการะ จึงอวดอิทธิปาฏิหาริย์ของตน หรือของสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมา ครั้นผู้มีความทุกข์นำเอาไปใช้ แต่กลับไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์อย่างที่อวดอ้าง ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ จึงทำให้เกิด
การดูหมิ่นพระพุทธศาสนาในส่วนรวม บางคนถึงกับเอาพระพุทธรูปไปทำลาย แล้ว
เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นก็มี เพราะฉะนั้น ทั้งพระสงฆ์ที่อยู่ในวัด และพุทธศาสนิกชนที่เข้าวัด ควรทำความเข้าใจพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องว่า พระสัมมาสัมพุทธ
เจ้าเป็นสรณะของชาวโลก ด้วยการแนะนำสั่งสอนให้เขาเลิกละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
แล้วให้ประกอบแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ดลบันดาลอะไรให้แก่ใคร พระองค์ทรงสอนว่า ความหมดจดหรือความเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คน
อื่นทำคนอื่นให้หมดจดหรือให้เศร้าหมองไม่ได้ บุคคลย่อมพ้นทุกข์เพราะความพากเพียรของตนเอง พระตถาคตทั้งหลาย เป็นผู้บอกเท่านั้น
๒. เป็นผู้ไม่มีศีล หรือทุศีล หมายความว่า รับศีลแต่ปาก หรือรับศีลแล้วไม่สามารถรักษาได้ เพราะอำนาจกิเลสมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกลัว เป็นต้น อันเกิดขึ้นเพราะลาภ ยศ ญาติ อวัยวะ และชีวิตเป็นเหตุ

๓. เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว หมายความว่า นิยมนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เช่นเทพเจ้า ภูตผี ปีศาจ ต้นไม้ แม่น้ำ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเป็นต้น ว่าสิ่งนั้น ๆ สามารถทำให้เป็นเช่นนั้น เช่นนี้ ทั้งทางดี และทางร้าย ดังเรื่องเล่าว่า พระเจ้าปัณฑุราชทรงกำแก้วมุกดาไว้ในพระหัตถ์ ๓ ดวง แล้วตรัสถามหมอดูว่า อะไรอยู่ในกำมือนั้น หมอดูนั้นเหลียวดูข้างโน้นข้างนี้ เผอิญเวลานั้นแมลงวันหัวเขียวถูกจิ้งจกคาบแต่รอดจากปากจิ้งจกไปได้ เขาจึงกราบทูลว่า แก้วมุกดา ตรัสถามต่อไปอีกว่ากี่ดวง เผอิญเวลานั้นไก่ขัน ๓ ครั้ง จึงกราบทูลว่า ๓ ดวง หมอดูนั้นทำนายได้ถูกต้อง เพราะเสี่ยงเอาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะเขารู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดนั้นคนละอย่างกับความจริง อาจมีบางครั้งที่ไปตรงกันบ้าง แต่คงน้อยมาก ผู้คนนำเอาเรื่องนั้นไปพูดกันทำให้เกิดความเชื่อว่าหมอดูคนนั้นดูแม่น และทำให้เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของวิชาหมอดูด้วย แต่ความจริงคราวนั้นเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้นเอง
อีกเรื่องหนึ่ง ท่านเล่าไว้ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเศษมาแล้วว่า ที่วัดแห่งหนึ่ง เขียนภาพจิตรกรรมเป็นรูปสัตว์เลื้อยคลานที่คนรังเกียจแล้วตั้งชื่อให้มันว่ามังกรทอง
กำลังพ่นไฟไว้ที่ฝาผนังวิหาร ปรากฏว่าตั้งแต่นั้นมาภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นทะเลาะกันใหญ่
หาความสงบสุขไม่ได้ ต่อมามีพระอาคันตุกะรูปหนึ่งมาที่วัดนั้น จึงลบภาพนั้นทิ้งเสีย ไม่นานนักการทะเลาะในวัดนั้นก็ค่อย ๆ เบาบางลงไป ส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่าภาพนั้นเป็นอัปมงคล ให้เกิดความชั่วร้าย แต่ความจริงแล้ว อาจเป็นเพราะพระภิกษุชั่วร้ายในวัดนั้นมรณภาพ หรือย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ได้ เรื่องมงคลหรืออัปมงคลที่เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์แปลก ๆ เช่นนี้ จึงทำให้คนนำเอามาเป็นข้ออ้างให้คนเชื่อถือแล้วเกิดความกลัวหรือความอยากได้ จนกลายเป็นอาชีพหากินของคนลวงโลก เป็นสิ่งที่อุบาสกอุบา สิกาไม่ควรเชื่อถือ

๔. เป็นผู้เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม หมายความว่า คิดหาแต่มงคลภาย
นอก ไม่คิดถึงกรรม คือเมื่อต้องการหรือกลัวอะไร ก็คอยคิดแต่จะหาผู้ที่ หรือ
สิ่งที่จะมาช่วยดลบันดาลให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น หรือหมดไปโดยไม่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง
บุคคลผู้มีความเชื่อถืออย่างนี้ย่อมหาความเจริญได้ยาก หรือแม้ที่มีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว ก็มีแต่จะเสื่อมไป ดังเรื่องของพระเจ้ากาลิงคะ แห่งกาลิงครัฐ เป็นอุทาหรณ์

ครั้งดึกดำบรรพ์ พระเจ้ากาลิคะ ครองราชย์ในทันตบุรี แคว้นกาลิงคะ พระเจ้าอัสสกะ ครองราชย์ในโปตลนคร แคว้นอัสสกะ พระเจ้ากาลิงคะ สมบูรณ์ด้วยอาณาจักร กองทหาร และเงินตรา ฝ่ายพระเจ้าอัสสกะ อาณาจักรไม่ใหญ่โต เงินตรามีไม่มาก ทหารมีน้อยแต่มีความกล้าหาญ สามัคคี ภักดีและมีปรีชาญาณ
พระเจ้ากาลิงคะมีพระทัยใฝ่สงคราม แต่ไม่มีแคว้นไหนจะสู้รบด้วย ต่าง
ยอมอ้อนน้อมส่งบรรณาการมาถวาย วันหนึ่งตรัสแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า เราอยาก
จะรบ แต่ไม่มีใครสู่รบด้วย จะทำประการใดดี อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่าพระองค์ทรงมีพระราชธิดาผู้เลอโฉม ๔ พระองค์ ขอทรงโปรดให้แต่งราชรถ แล้วให้พระ
ธิดาทั้ง ๔ ประทับนั่งแวดล้อมด้วยไพร่พล ไปยังแคว้นต่าง ๆ แล้วส่งสารให้ทราบว่า ถ้าใครต้องการจะสู้รบกับกาลิงคะให้เปิดประตูพระนครรับเอาราชธิดาไปอภิเษกเป็นมเหสี ถ้าไม่กล้าสู้รบให้ปิดประตูพระนครไว้ แต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาถวาย
พระราชธิดา ราชรถพาราชธิดาไปเกือบทั่วชมพูทวีป โดยไม่มีแคว้นไหนเปิดประตูรับ
พระราชธิดา มีแต่ส่งเครื่องบรรณาการไปถวาย ซึ่งหมายถึงยอมเป็นเมืองขึ้นของ
กาลิงคะ

ราชรถของพระธิดาล่วงเข้าสู่ โปตลนครแห่งแคว้นอัสสกะ แม้พระเจ้าอัสสกะ
ก็รับสั่งให้ปิดประตูพระนคร แล้วส่งเครื่องบรรณาการไปถวายเหมือนกับนครต่าง ๆ ที่
ผ่านมา แต่อำมาตย์ของพระองค์มีนามว่า นนทเสน เป็นผู้จงรักภักดี มีปรีชา
สามารถกล้าหาญ และชาญฉลาดในกลอุบายการรบ คิดว่าราชรถของพระราชธิดาทั้ง
๔ แห่งพระเจ้ากาลิงคะ ผ่านไปทั่วชมพูทวีป มีแต่ผู้ส่งบรรณาการมาให้ ไม่มี
ใครสู้รบ เหมือนกับว่าชมพูทวีปว่างเปล่าจากผู้มีฝีมือที่กล้าหาญ เราจะรบกับพระ
เจ้ากาลิงคะ จึงไปยังประตูนคร สั่งให้ทหารเปิดประตูพระนคร รับพระราชธิดาทั้ง
๔ ไปถวายพระเจ้าอัสสกะราชาแห่งตน พร้อมกับกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงอภิเษก
ราชธิดาทั้ง ๔ เป็นมเหสีเถิด ไม่ต้องกลัวแสนยานุภาพของพระเจ้ากาลิงคะ ข้า
พระองค์จะสู้รบกับพระเจ้ากาลิงคะเอง แล้วกราบทูลให้พระเจ้าอัสสกะ ยกกองทัพ
ออกไปตั้งมั่นยังชายแดน ที่พระเจ้ากาลิงคะจะยกกองทัพมา
ฝ่ายพระเจ้ากาลิงคะ ครั้นทรงทราบข่าวว่าอัสสกะเปิดประตูเมืองรับพระราช
ธิดาไปอภิเษกเป็นมเหสี ซึ่งหมายถึงเป็นการประกาศสงครามกับกาลิงคะ ทรงดี
พระทัย เพราะจะได้ทำสงคราม จึงยกกองทัพซึ่งมีรี้พลมากกว่าอัสสกะหลายเท่า
มุ่งหน้าไปยังแคว้นอัสสกะ เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากันที่ชายแดน ต่างฝ่ายตั้งค่ายอย่างมั่นคง
ครั้งนั้น มีพระฤาษีรูปหนึ่งตั้งอาศรมอยู่ระหว่างพระราชาทั้งสองนั้น พระเจ้ากาลิงคะทราบดั้งนั้น จึงทรงดำริว่า ธรรมดานักพรต มักจะมีญาณวิเศษรู้อะไรทั้งในอดีตและอนาคตได้ จึงปลอมพระองค์เป็นคนธรรมดาเข้าไปหาพระฤาษีถามถึงเรื่องการรบระหว่างกองทัพทั้งสองว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะ พระฤาษีตอบว่า อาตมาภาพไม่ทราบ แต่เวลากลางคืนพระอินทร์มักเสด็จมาสนทนาธรรมด้วย จะถามเรื่องนี้ให้ พรุ่งนี้ให้มาฟังข่าว

ครั้นเวลาค่ำ พระอินทร์ได้เสด็จมายังอาศรมของพระฤาษี พระฤาษีได้ถามถึงเรื่องนั้น ได้ตรัสบอกว่า กองทัพฝ่ายกาลิงคะจะมีชัย ฝ่ายอัสสกะจะพ่ายแพ้ โดยกองทัพทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเทวดามาช่วย เทวดาฝ่ายกาลิงคะจะปรากฏเป็นรูปโคสีดำ ของฝ่าย
อัสสกะจะปรากฏเป็นรูปโคสีขาว โคทั้งสองจะต่อสู่กันในที่สุดโคสีดำซึ่งมีพละกำลังมาก
กว่าจะมีชัย นั่นหมายถึง กองทัพฝ่ายกาลิงคะ จะได้รับชัยชนะ

วันรุ่งขึ้น พระเจ้ากาลิงคะไปหาพระฤาษีตามนัด ได้ทราบว่าฝ่ายพระองค์จะชนะ ทรงดีพระทัยไม่ได้ตรัสถามรายละเอียดว่าจะชนะด้วยวิธีใด รีบกราบลาพระฤาษี
กลับไปยังกองทัพของตน แจ้งข่าวแก่ทหารทั้งหลาย ข่าวสงครามแพร่ไปทั่วกองทัพทั้ง
สองฝ่ายว่า พระอินทร์ตรัสบอกว่า กองทัพฝ่ายกาลิงคะจะมีชัย ฝ่ายอัสสกะจะ
พ่ายแพ้

แม้พระเจ้าอัสสกะก็ทรงทราบข่าวนั้น จึงตรัสเรียก นนทเสนแม่ทัพใหญ่ของพระองค์มาปรึกษา นนทเสนทูลถามถึงที่มาของข่าว ได้ทราบว่ามาจากพระฤาษี จึงเข้าไปหาพระฤาษี แล้วถามถึงเรื่องการแพ้และชนะของกองทัพทั้งสอง พระฤาษีก็
บอกให้เหมือนกับที่ได้บอกแก่พระเจ้ากาลิงคะ นนทเสนได้ถามต่อว่ามีอะไรเป็นเหตุหรือเป็นตัวช่วยให้ฝ่ายกาลิงคะได้รับชัยชนะ พระฤาษีจึงบอกถึงเทวดาประจำทัพทั้งสองฝ่ายให้ทราบ และบอกว่าในขณะที่โคสองตัวนั้นต่อสู้กัน มีแต่พระเจ้ากาลิงคะกับพระเจ้า
อัสสกะเท่านั้นที่เห็น ทหารอื่น ๆ ไม่มีใครเห็น

นนทเสนครั้นทราบรายละเอียดแล้ว ได้กราบลาพระฤาษีกลับไปยังกองทัพของ
ตน กราบทูลพระเจ้าอัสสกะว่า เมื่ออยู่ในสนามรบพระองค์เห็นโคดำอยู่ที่ไหนให้ชัก
ม้าพระที่นั่งมุ่งไปยังที่นั้น และใช้พระแสงหอกทิ่มแทงไปที่โคดำนั้น ต่อจากนั้นสั่งให้
ทหารทุกคนเตรียมพร้อมตลอดเวลา แล้วได้พานายทหารผู้ใหญ่ขึ้นไปบนยอดเขา
กล่าวว่า ถ้าท่านทั้งหลาย ซื่อสัตย์ และภักดีต่อพระเจ้าอัสสกะราชาของพวกเรา
ก็ให้เสียสละชีวิตของตนกระโดดลงจากหน้าผานี้ ทหารทุกคนมุ่งตรงไปยังหน้าผา ตั้ง
ท่าจะกระโดดลงไป นนทเสนห้ามเอาไว้ และขอบใจทหารทุกคนที่พร้อมจะยอมตายเพื่อพระราชาของตน

ฝ่ายทหารของพระเจ้ากาลิงคะ หลังจากได้ทราบว่า พระอินทร์บอกว่าจะชนะ
สงครามแน่นอน จึงวางใจ อยู่กันตามสบาย ไม่เตรียมพร้อมจับกลุ่มกัน สนุก
สนานในเวลาที่ควรจะทำความเพียร ขาดระเบียบวินัยทั้งผู้น้อยและผู้ใหญ่

พระราชาทั้งสองฝ่าย ขึ้นทรงม้าศึกเข้าหากัน โคทั้งสอง คือ โคดำ และ
โคขาว ซึ่งเป็นเทวดาประจำทัพของทั้งสองออกมาต่อสู่กัน พระเจ้าอัสสกะทอดพระ
เนตรเห็นโคดำจึงมุ่งไปหา เอาพระแสงหอกทิ่มแทงเข้าใส่ ทหารทุกนายของพระองค์
ก็แสดงความกล้าหาญ เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พระราชา
เสด็จไปทางไหนก็ดาหน้าเข้าหาศัตรู ใช้อาวุธเข้าห้ำหันฟาดฟัน ในที่สุดทั้งโคดำ และทหารฝ่ายกาลิงคะ ต้านทานไม่ไหว แตกพ่ายไป

พระเจ้ากาลิงคะ ครั้นพ่ายแพ้แก่อัสสกะแล้วทรงกริ้วพระฤาษีมาก ตรง
ไปยังอาศรม ด่าว่าต่างๆ นานาแล้วกล่าวว่า ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านพูด
ว่า พระเจ้ากาลิงคะจะชนะ พระเจ้าอัสสกะจะพ่ายแพ้ ทำไมคนตรงถึงพูดไม่จริง
แล้วได้เสด็จกลับไปยังพระนครของตน

ต่อจากนั้นสองสามวัน พระอินทร์ได้เสด็จมายังอาศรม พระฤาษีจึงได้
กล่าวกับพระองค์ว่า ธรรมดาเทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวเท็จ ถือความสัตย์
เป็นเลิศ ทำไมท่านจึงกล่าวเท็จ หรืออาศัยเหตุอะไร ท่านจึงได้กล่าวอย่างนั้น

พระอินทร์ตอบว่า ท่านผู้เป็นเหล่าก่อพระพรหม ท่านไม่เคยได้ยินคนเขา
พูดกันบ้างเลยหรือว่า เทวดาทั้งหลายกลั่นแกล้งความเพียรของมนุษย์ไม่ได้ ฝ่าย
อัสสกะมีชัยชนะ เพราะความฝึกตนไว้ดี มีน้ำใจมั่นคง มีความสามัคคีกัน
มีความกล้าหาญ พากเพียรพยายามถูกเวลา

กองทัพของพระเจ้ากาลิงคะ ซึ่งมีทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์มากกว่า
ต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพของพระเจ้าอัสสกะ เพราะเชื่อมั่นคำของเทวดาเกินไป จนขาด
ระเบียบวินัย และความเพียร เมื่อคนขาดความเพียรเสียแล้ว เทวดาที่ไหนก็ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากสิ่งที่ไม่มีตัวตน จึงเป็นสิ่งที่อุบาสก อุบาสิกาไม่ควรเชื่อถือ

๕. แสวงหานักบุญนอกศาสนา และทำบุญในบุคคลนั้น การทำบุญมีหลาย
ฐานะ เคยมีคนมาถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระสมณโคดมสอนว่า บริจาค
ทานในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้นจึงได้บุญ บริจาคกับคนอื่นไม่ได้
บุญจริงหรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า อย่าว่าแต่บริจาคทานกับสมณพราหมณ์เหล่า
อื่นเลย แม้บุคคลผู้ล้างถาด ล้างจานภัตตาหารที่ท่าน้ำ มีใจกรุณาว่าเมล็ดข้าวที่ติด
ถาดติดจานนี้ จงเป็นประโยชน์แก่ปลาทั้งหลาย เพียงเท่านี้ก็ได้บุญมากแล้ว การ
ให้วัตถุทานมีข้าวน้ำเป็นต้นแก่บุคคลอื่น พระพุทธศาสนาจัดไว้ ๔ ฐานะ คือ
๑. ให้ในฐานะเป็นญาติมิตร ๒. ให้ในฐานะเป็นอาจารย์ ๓. ให้เพราะ
ความกลัว ๔. ให้ในฐานะที่เป็นทักขิไณยบุคคล

การที่อุบาสก อุบาสิกา จะให้วัตถุทานและทำสามีจิกรรมแก่บุคคลอื่นตาม
ฐานะ ๓ ประการข้างต้น แม้เป็นผู้นับถือศาสนาอื่น ท่านไม่ห้าม และย่อมได้
บุญกุศลตามสมควรแก่ฐานะ แต่ที่ศาสนาห้าม คือ การให้ด้วยความรู้สึก ว่าเป็นพระทักขิไณยบุคคล เพราะทุกคนย่อมมีสรณะของตนเอง ในสมัยครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุคณะหนึ่ง ทูลลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจำพรรษาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม
โดยอาศัยหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นที่โคจรบิณฑบาต ประชาชนหมู่บ้านนั้นใจกว้าง นักบวช
นักพรตคณะไหนมาก็ให้ความเคารพนับถือ เหมือนกันหมด ครั้นออกพรรษา
ภิกษุทั้งหลายกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงถามถึงความเป็นอยู่ ได้กราบทูลว่า ไม่มีความลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาต แต่ลำบากใจ เพราะคนที่นั่นนับถือหมดทุกสิ่ง
ทุกอย่าง จึงไม่ปรารถนาจะอยู่ที่นั่น พระพุทธองค์ตรัสว่า เธอทั้งหลายทำถูกแล้ว แม้เราในสมัยเป็นดิรัจฉานก็ไม่อยู่ในสถานที่เช่นนั้นมาแล้ว ได้ทรงเล่าอดีตนิทานว่า

ครั้งหนึ่งพระองค์เกิดเป็นหงส์ และมีหงส์ผู้น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก
หนึ่ง ครั้นเติบโตเป็นหนุ่มแล้ว ได้พากันบินท่องเที่ยวไปจนถึงหิมวันตประเทศ ครั้ง
นั้นได้บินไปถึงภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งมีความแปลกประหลาดกว่าภูเขาทั้งหลาย คือเมื่อสัตว์ทั้งหลายเข้าไปที่ภูเขานั้นขนจะกลายเป็นสีทองทั้งหมด เช่น กาสีดำ นกยางสีขาว กาเหว่าขนลายเป็นต้น ก็จะกลายเป็นสีทองเหมือนกันทั้งหมด
ฝ่ายหงส์ผู้น้องชาย เข้าไปยังภูเขานั้นก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความอัศจรรย์ของภูเขา
และการที่ขนของตนกลายเป็นสีทอง แต่หงส์ผู้พี่ชายกลับมองเห็นว่าภูเขาลูกนี้ช่างไม่เป็น
มงคลเสียเลย จึงชวนน้องชายให้รีบหนีไปให้ไกลจากภูเขาลูกนั้น โดยกล่าวสอนน้องชายว่า ณ ภูเขาลูกใด ผู้เกียจคร้านกับผู้ขยัน ผู้กล้าหาญกับผู้ขี้ขลาด ได้รับความนับถือบูชาเสมอกัน สัตบุรุษย่อมไม่อยู่ที่ภูเขาลูกนั้น ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกคนดีคนชั่วให้ต่างกัน

การเป็นพุทธศาสนิกชน แต่นับถือทุกอย่าง ตั้งแต่พระรัตนตรัย เทพเจ้า
เจ้าป่า เจ้าเขา ภูตผี ต้นไม้ ต้นกล้วย จนกระทั่งปลาไหล และกบ จึง
ไม่เป็นมงคล คือเหตุแห่งความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง

๖. ถามว่า อะไรเป็นสมบัติของอุบาสก ตอบว่า ความมีศีลที่สมบูรณ์
และความมีอาชีวะที่สมบูรณ์ จัดเป็นสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา ข้อนั้นได้แก่
ธรรม ๕ อย่าง มีศรัทธาเป็นต้น ที่ทำความเป็นอุบาสกรัตนะ (อุบาสกแก้ว)
เป็นต้น สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสก ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จัดเป็นอุบาสก
รัตนะ อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ธรรม ๕ ประการ คือ ๑. เป็นผู้มี
ศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล ๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ๔. เชื่อกรรมไม่เชื่อ
มงคล ๕. ไม่แสวงหานักบุญนอกศาสนาและไม่ทำบุญในบุคคลนั้น

๑. มีศรัทธา หมายความว่า มี ตถาคตโพธิศรัทธา คือ เชื่อในความ
ตรัสรู้ของพระตถาคต หมายถึง เข้ามานับถือพระพุทธเจ้าแล้ว หลังจากนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือแก่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะแก่พระสงฆ์ ก็ไม่มีกลับกลายเป็นอื่น หรือแม้แต่จะเกิดความหวั่นไหว ยกตัวอย่างเช่นอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เป็นต้น ดังท่านเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทขุททกนิกายว่า
อนาบิณฑิกเศรษฐีนั้น ได้บริจาคทรัพย์เป็นอันมาก ซื้อที่และสร้างพระวิหาร
เชตวัน ถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์ หลังจากนั้นได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์เป็นจำนวนมากทุกวัน และได้สมาทานศีลเป็นนิตย์

ครั้นเวลาผ่านไป เศรษฐีนั้นถูกโกงบ้าง ทรัพย์สินเงินทองถูกน้ำพัดลงแม่น้ำ
ไปบ้าง แม้จะตกอยู่ในสภาพหมดตัวอย่างนี้ เศรษฐีก็ยังทำบุญอยู่เสมอ แต่ว่า
ของที่ทำบุญนั้นเป็นของไม่ประณีตเหมือนแต่ก่อน วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามว่า
ท่านเศรษฐี ยังบริจาคทานอยู่หรือ ทูลว่ายังบริจาคอยู่พระเจ้าข้า แต่ว่าของที่
บริจาคไม่ประณีต พระศาสดาตรัสว่า ท่านเศรษฐี ขออย่าได้คิดว่าของดีหรือไม่ดี
เมื่อท่านมีศรัทธาและได้พระทักขิไณยบุคคล ทั้งพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกเช่นนี้
ทานทุกชนิดเป็นของดีทั้งนั้น ท่านย่อมประสบบุญมาก

ครั้งนั้น เวลากลางคืน เทวดาตนหนึ่ง ซึ่งไม่พอใจพระพุทธเจ้ากับพระ
สงฆ์ ต้องการจะให้เศรษฐีเลิกนับถือมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้โอกาส เพราะก่อน
นั้นเศรษฐียิ่งทำบุญมากเท่าไร ยิ่งร่ำรวยมากเท่านั้น แต่เวลานี้เศรษฐีทำบุญแล้วจน
ลง ๆ ถ้ายุยงคงจะเชื่อง่าย ตกกลางคืน ๆ หนึ่ง จึงเข้าไปยังห้องของเศรษฐี แสดง
ตนให้ปรากฏ เศรษฐีถามว่า ท่านเป็นใคร เราเป็นเทวดา ท่านมาเพื่ออะไร เพื่อเตือนสติท่าน เตือนว่าอย่างไร กรุณาเตือนได้เลย

เทวดาบอกว่า ท่านเศรษฐี เมื่อก่อนท่านมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่
พอท่านมานับถือพระสมณโคดม และพระสงฆ์สาวก บริจาคทานเป็นอันมากตลอดมา ทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นก็ค่อย ๆ หมดไป จนบัดนี้ท่านหมดตัวแล้ว ขอให้ท่านเลิก
นับถือ และเลิกบริจาคแก่พระสมณโคดม กับพระสงฆ์ แล้วทำงานเก็บทรัพย์เอา
ไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตเถิด
เศรษฐีไม่เชื่อคำของเทวดานั้น จึงถามว่า นี่หรือคือคำเตือนสติของท่าน
ท่านพูดคำที่ไม่เหมาะสม ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อคำเตือนของท่านเด็ดขาด และขอเชิญ
ท่านออกไปจากบริเวณบ้านของข้าพเจ้าด้วย

บุคคลผู้มีศรัทธาต่อพระรัตนตรัย เหมือนกับอนาถบัณฑิกเศรษฐีนี้ ชื่อว่าผู้ มีศรัทธา

๒. เป็นผู้มีศีล หมายความว่า ไม่ได้รับศีลแต่พอเป็นพิธี หรือรับแล้วไม่
สามารถจะรักษาได้ เพราะเหตุแห่ง ลาภ ยศ ญาติ อวัยวะ และชีวิต แต่
ยึดมั่นในสับปุริสานุสติว่า พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะ เพื่อ
รักษาชีวิต พึงสละทั้งทรัพย์อวัยวะและชีวิตเพื่อรักษาธรรม ดังพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ เป็นต้น

พระเจ้าสุตโสมเป็นกษัตริย์ ครองราชสมบัติในอินทปัตนคร แคว้นกุรุ วัน หนึ่งขณะลงสรงสนานในสระโบกขรณี อันเป็นมงคล ได้ถูกนายโปริสาท แปลว่า
มนุษย์กินคนจับไป เพื่อฆ่าบูชายัญ และกินเนื้อเป็นอาหาร

ก่อนจะถูกฆ่าบูชายัญ พระเจ้าสุตโสมได้ขอร้องนายโปริสาทว่า ข้าพเจ้าติด
ค้าง สัจวาจาที่ได้ให้ไว้กับพราหมณ์ท่านหนึ่งว่า อาบน้ำเสร็จแล้วจะกลับไปฟังธรรม
ของท่าน และบอกให้ท่านคอยอยู่ที่ประตูเมือง ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าได้ไปทำตาม
สัจวาจานั้นก่อน แล้วจะกลับมาให้ท่านฆ่าบูชายัญ และรับประทานเนื้อเป็นอาหาร

นายโปริสาท กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า คนผู้พ้นจากปากของมัจจุราชไป
มีความสุขแล้วจะกลับมาหามัจจุราชอีก

ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม พระองค์ก็เช่นเดียวกัน พ้นจากเงื้อมมือของนายโปริสาท ได้ชีวิตอันเป็นที่รักกลับคืนแล้ว ก็คงจะเสด็จกลับไปยังพระราชวัง อันเพียบพร้อมไป
ไปด้วยความสุข ไฉนจะกลับมาหานายโปริสาท อันเปรียบเสมือนมัจจุราชของพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม คนผู้มีความสุขคนไหนบ้างที่อยากตาย อย่าว่าแต่อยาก
ตายเลย แม้เพียงจะแบ่งความสุขเพียงเล็กน้อย จากความสุขที่มีอยู่อย่างมากมายของ
ตนให้แก่ผู้ยากไร้บ้าง ยังทำได้ยากแสนยาก

พระเจ้าสุตโสม ได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่นายโปริสาท ถ้าคนดีมีศีลบริสุทธิ์
จะพึงปรารถนาความตาย ก็สมควรแท้ เพราะว่าเมื่อเขาตายไป เขาจะได้ไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์

แต่คนชั่ว มีนิสัยเลวทราม ทำแต่ความชั่ว ถูกแช่งด่าทุกสารทิศ ไม่
สมควรปรารถนาชีวิต เพราะอยู่ไปนานเท่าไร ก็มีแต่จะสร้างความทุกข์ความเดือดร้อน
ให้แก่ผู้อื่น และขุดหลุมนรกฝังตนเองให้ยิ่งลึกลงไปทุกวัน จนยากที่จะปีนป่ายออกมาได้

ข้าแต่นายโปริสาท การพูดเท็จอาจจะช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความตายในวันนี้
ได้ แต่จะทำให้ข้าพเจ้าต้องไปตกนรก นานหลายกัปหลายกัลป์ นับภพ นับชาติ
ไม่ถ้วน ไม่คุ้มกันเลย

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า ท้องฟ้าจะถล่มทลายลงมา พื้นพสุธาจะพลิกคว่ำ
น้ำในมหาสมุทรจะแห้งเป็นโคลนตม ลมจะพัดภูเขาพระสุเมรุให้ลอยไปในอากาศ แต่
ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวมุสาวาทเป็นเด็ดขาด

นายโปริสาทได้ฟังคำรับรองของพระเจ้าสุตโสมมั่นคง หนักแน่นเช่นนั้น จึง
ยอมปล่อยพระองค์ไป ทั้งที่ในใจไม่ได้มีความเชื่อเลยว่า พระเจ้าสุตโสมจะกลับมา
ตามวาจาที่ได้ให้ไว้

ฝ่ายพระเจ้าสุตโสม ครั้นได้การปลดปล่อยจากนายโปริสาทแล้ว ได้รีบเสด็จ
กลับไปหาพราหมณ์ตามที่นัดไว้ ฟังธรรมและบูชาธรรมเสร็จแล้ว ได้รีบเสด็จกลับมาหานายโปริสาท ครั้นมาถึง ได้ตรัสกับเขาว่า

ข้าแต่นายโปริสาท ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามสัจวาจาทั้งสองแล้ว คือสัจวาจาที่
ได้ให้ไว้กับพราหมณ์ และสัจวาจาที่ได้ให้ไว้กับท่าน บัดนี้ขอเชิญท่านฆ่าข้าพเจ้าบู
ชายัญ และกินเนื้อเป็นอาหารได้แล้ว

นายโปริสาทได้เห็นพระเจ้าสุตโสมเสด็จกลับมาโดยไม่มีความกลัวตาย และ
ตรัสอย่างองอาจเช่นนั้น เกิดความสงสัยว่า เพราะอานุภาพของอะไร พระเจ้าสุต
โสมนี้จึงไม่กลัวความตาย จึงได้ถามว่า ทำไม ท่านจึงไม่กลัวตาย

เพราะข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของสัจวาจา และเพราะข้าพเจ้าได้แผ้วถางทางสวรรค์เอาไว้แล้ว พระเจ้าสุตโสมตรัส

เขาถามว่า สัจวาจามีคุณค่าอย่างไร

พระเจ้าสุตโสมตรัสตอบว่า บรรดารสทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ความสัตย์มีรสดีกว่ารสเหล่านั้น สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ข้ามฝั่งแห่งชาติ และมรณะได้ ก็เพราะตั้งอยู่ในความสัตย์
นายโปริสาทถามว่า ที่ท่านกล่าวว่า ได้แผ้วถางทางสวรรค์ไว้แล้ว ทางสวรรค์อยู่ที่ไหน

พระเจ้าสุตโสมตรัสตอบว่า อยู่ที่การทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ คือ

บิดามารดา ที่ได้ให้ชีวิตให้เลือดเนื้อแก่ข้าพเจ้า และได้เลี้ยงดูข้าพเจ้ามาจน
เจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ข้าพเจ้าได้เลี้ยงดูท่านตอบแทนด้วย
ความเคารพ นับถือ บูชา และความกตัญญูกตเวที
ญาติพี่น้อง ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เข้ามาขอพึ่งพาอาศัยข้าพเจ้าก็ได้ช่วยเหลือ
เกื้อกูลด้วยความสำนึกในญาติธรรม

มิตรสหายข้าพเจ้าก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล จริงใจ และพูดแต่ความจริง เสมอต้นเสมอปลายไม่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ
อาณาประชาราษฎร์ ข้าพเจ้าก็ปกครองด้วยทศพิศราชธรรม กำจัดทุกข์บำ รุงสุขโดยทั่วหน้า ไม่เคยเบียดเบียนผู้ใดให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน

คนยากจน คนกำพร้า อนาถา ข้าพเจ้าก็ได้บริจาคทานด้วยการให้ข้าว
น้ำ เสื้อผ้า และของใช้ที่จำเป็นแก่ชีวิตตลอดมา

สมณพราหมณ์ ข้าพเจ้าก็ได้ให้ความคุ้มครองรักษาโดยธรรม และได้ถวาย
การอุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย ๔ ด้วยความเชื่อปรโลกว่า นี้เป็นบุญเขตของเรา

ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของผู้เป็นมนุษย์พึงกระทำ และเป็นหนทางไปสู่สวรรค์ของ
ผู้เดินทางไปปรโลก ข้าพเจ้าได้ทำไว้เสร็จแล้ว อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่าได้แผ้วถางทางสวรรค์เอาไว้แล้ว จึงไม่กลัวต่อความตาย

นายโปริสาทฟังพระดำรัสของพระเจ้าสุตโสมแล้ว มีความรู้สึกว่าถ้าเขากินเนื้อของพระราชานี้ ศีรษะของเขาคงจะต้องแตกเป็น ๗ เสี่ยง หรือแผ่นดินใหญ่นี้ คง
จะต้องสูบเขาทั้งเป็น จึงได้ทูลว่า ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม พระองค์เป็นผู้ไม่สมควร
ที่ข้าพเจ้าจะกินเนื้อเลย เพราะผู้ใดกินเนื้อของผู้มีวาจาสัตย์เช่นกับพระองค์ ผู้นั้นชื่อว่า
กินยาพิษทั้งที่รู้ จับงูพิษร้ายทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะถูกงูกัด และศีรษะของผู้นั้น จะ
ต้องแตก ๗ เสี่ยง

ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ทั่วชมพูทวีปนี้ จะหาคนดีที่เสมอกับพระองค์ไม่มีอีกแล้ว
พระองค์พ้นจากเงื้อมมือของนายโปริสาทไปฟังธรรม สักการะธรรมแล้วยังกลับมาหาความตาย เพื่อรักษาสัจวาจา

ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอพระองค์ได้โปรดแสดงธรรม ที่ได้ทรงสดับมาแก่ข้าพ
เจ้าบ้าง เพราะคนทั้งหลายรู้จักความดีและความชั่ว แล้วยินดีละความชั่วประพฤติ
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ก็เพาะการฟังธรรมนั่นเอง

พระเจ้าสุตโสม ทรงยึดมั่นในสัปปุริสานุสติว่า บุคคลพึงเสียสละ ทรัพย์
อวัยวะ และชีวิตเพื่อรักษาธรรม ด้วยอานุภาพแห่งความดีนั้น จึงทรงรอดพ้นจาก
ความตาย และทำให้นายโปริสาทเลิกทำบาปแล้วมาสมาทานศีล ดังกล่าวมา เพราะ
ฉะนั้น การคิดถึงสัปปุริสานุสติ จึงเป็นเหตุให้รักษาศีลไว้ได้ ผู้สมาทานศีลทุกคน
ควรคิดถึงอยู่เสมอ

๓. เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว หมายความว่า เป็นผู้เชื่อความตรัสรู้ของพระ
พุทธเจ้า ไม่เชื่อมงคลภายนอก เช่นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาอย่างไร้เหตุผล
เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พระนางมัลลิกา พระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล มี
เรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงบรรทมไม่หลับ ครั้นถึงมัชฌิม
ยามแห่งราตรี ทรงได้สดับเสียงประหลาดว่า ทุสะนะโส ตกพระทัยกลัวมาก
ครั้นรุ่งเช้า ตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้า ตรัสเล่าถึงเสียงนั้นให้ฟัง แล้วตรัส
ถามว่า ภัยอะไรจะเกิดขึ้นกับพระองค์ พระมเหสี และราชสมบัติ หรือไม่

พราหมณ์นั้น ไม่รู้อะไรเลย แต่จะทูลว่าไม่รู้ก็กลัวจะเสื่อมลาภ จึงทำพิธีลงเลขยามแล้ว กราบทูลว่าเสียงนั้นเป็นลางร้ายอย่างใหญ่หลวง อันตรายจะเกิดแก่
ชีวิตของพระองค์

มีวิธีแก้ไขได้ไหม ตรัสถาม
พราหมณ์กราบทูลว่า มีพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์รู้เวท ๓
ย่อมรู้วิธีแก้ลางร้ายนั้นได้

ต้องการอะไร ตรัสถาม

พราหมณ์กราบทูลว่า ต้องบูชายัญด้วยช้าง ม้า โคผู้ โคนม แพะ
แกะ ไก่ สุกร เด็กชาย เด็กหญิง ชนิดละร้อย

พระราชาทรงดำริว่า ชีวิตของพระองค์สำคัญที่สุด จึงทรงรับสั่งให้จับสัตว์และมนุษย์มาตามจำนวนที่พราหมณ์บอก เพื่อฆ่าบูชายัญ

มนุษย์และสัตว์จำนวนมากที่ถูกจับไปขัง และพันธนาการไว้ กลัวต่อมรณภัย
ต่างส่งเสียร้องคร่ำครวญอย่างน่าเวทนา บิดามารดา และญาติพี่น้องของผู้ที่ถูกจับไป
ก็ติดตามลูกหลานมา ร้องไห้เสียงระงมไปทั่ว เสียงร้องไห้ของมนุษย์ และเสียงร้อง
ของสัตว์ผู้ประสบมรณภัยดังประหนึ่งว่า เสียงทรุดแห่งแผ่นดิน

พระนางมัลลิกา ได้สดับเสียงนั้นจึงไปเฝ้าพระราชาทูลถามเหตุการณ์นั้น ทราบความทั้งหมดแล้วได้ทูลถามว่า ขอเดชะการเอาชีวิตของคนหนึ่ง ไปต่อให้อีกคน
หนึ่งทรงเคยเห็นมาหรือ ทำไมจึงทรงเชื่อคำของพราหมณ์โง่เขลา แล้วเอาความทุกข์
โยนให้มหาชน พระศาสดาผู้เป็นยอดคนของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับอยู่ที่
พระวิหารใกล้ ๆ นี้ ทำไมจึงไม่เสด็จไปถามปัญหาแล้วปฏิบัติตามพระโอวาทเล่า

พระราชาทรงได้สติแล้ว เสด็จไปยังวิหารเชตวันพร้อมกับพระนางมัลลิกา
ทูลถึงเรื่องเสียงที่ทรงสดับ แล้วทูลถามว่า จะมีอันตรายอะไรแก่ข้าพระองค์ พระ
มเหสีหรือราชสมบัติหรือไม่ พระศาสดาตรัสว่า ไม่มีอันตรายใด ๆ แก่พระองค์เลย
เสียงนั้นเป็นเสียงร้องของสัตว์ผู้ทำบาปกรรมไว้มาก ร้องเพื่อระบายความทุกข์ของตนเอง
พระราชาทราบดังนั้นแล้ว สบายพระทัย ถวายบังคมลาพระศาสดาเสด็จ
กลับไป รับสั่งให้ปล่อยมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจากพันธนาการ มนุษย์และสัตว์ทั้ง
หมดพร้อมด้วยญาติพี่น้องต่างดีใจ สรรเสริญและให้พรพระนางมัลลิกาว่า ขอให้พระ
แม่เจ้าผู้มีสติปัญญา และกรุณาคุณจงมีพระชนม์ยิ่งยืนนานเถิด และพระราชาก็ทรง
เกษมสำราญทุกประการ ไม่ได้มีอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นตามที่พราหมณ์ทูลบอกเลย
พระนางมัลลิกา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวได้ให้ชีวิตแก่
มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมากดังกล่าวมาฉะนี้แล

๔. เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล หมายความว่า เมื่อคิดถึงเหตุแห่งความสุข
หรือความทุกข์ คิดไปที่กรรม คือ การกระทำของตนไม่คิดถึงอำนาจดลบันดาลใน
ภายนอก เช่น คิดอยากได้ทรัพย์ก็คิดไปที่หลักธรรม คือ ความขยัน ประ
หยัด คบคนดี ใช้จ่ายพอสมแก่ฐานะ และรายได้ ไม่คิดถึงผู้วิเศษ หรือสิ่ง-
วิเศษมี นางกวัก เต่า ปลาไหลเผือก เป็นต้น

๕. ไม่แสวงหานักบุญ และทำบุญนอกพระพุทธศาสนา หมายความว่า จะให้วัตถุสิ่งของ หรือทำสามีจิกรรม มีการไหว้เป็นต้น แก่บุคคลต่างศาสนาในฐานะเป็นญาติมิตร ครูอาจารย์ และผู้มีพระคุณ สามารถทำได้ และจัดเป็นกุศล
คือความดี แต่การให้หรือการทำในฐานะเป็นทักขิไณยบุคคล คือบุคคลผู้เป็นบุญเขตอันสูงสุด ย่อมไม่สมควร

ผู้สมาทานอุโบสถศีล จัดว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัยมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สมาทาน หากให้ความสนใจศึกษาและปฏิบัติตามคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา หรือของ
ชาวพุทธทั้ง ๕ ประการนี้ ก็จะทำได้เป็นชาวพุทธผู้พัฒนา และมีคุณค่าอย่าง
แท้จริง แต่ถ้าไม่ปฏิบิตตามเสียเลยก็คงมีค่าเพียงแต่เป็นผู้สรรเสริญพระพุทธศาสนา
เท่านั้น

บรรณานุกรม

๑. คังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต อรรถกถา
๒. อุโบสถขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก
๓. มังคลัตถทีปนี อนวัชชกรรม
๔. วัสสูปนายิกขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก
๕. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ
๖. อรรถกถาวิกาลโภชนสิกขาบท
๗. อรรถกถาอุโบสถสูตร
๘. อุโบสถสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย
๙. วิสาขาสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย
๑๐. วาเสฏฐสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย
๑๑. อภิสันทสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย
๑๒. สุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกายอรรถกถา

ธรรมศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สอบธรรมศึกษาอย่างไร ถึงจะสอบผ่าน